วันจันทร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2556

สายตายาว

สายตาผิดปกติ โดย นายแพทย์สำราญ วังศพ่าห์
          มี ๔ ชนิด คือ
          ๑. สายตายาว (hypermetropia)
          ๒. สายตาสั้น (myopia)
          ๓. สายตาพร่าต่างแนว (astigmatism
          ๔. สายตาผิดปกติชนิดอื่นๆ เช่น สายตาสองข้างผิดปกติคนละชนิด  สายตาของผู้ที่ไม่มีแก้วตา เป็นต้น

[ดูภาพทั้งหมดในหมวด]



หัวข้อ
สายตายาว
          ในคนสายตายาวนั้นแสงขนานผ่านเข้าลูกตาไปรวมแสงเลยชั้นประสาท ขณะที่ตาไม่ใช้กำลังเพ่งมองภาพที่มองเห็นจะพร่ามัว เมื่อเลื่อนวัตถุออกไปไกลแสงมารวมกันทางด้านหน้ามากกว่าเดิม   ทำให้มองเห็นวัตถุในระยะไกลได้ชัดกว่าวัตถุในระยะใกล้ อาการของคนสายตายาวคือมองของไกลเห็นไม่ชัด สายตาพร่าที่มักเป็นหลังจากทำงานใกล้ตาอยู่นานๆ อาการเมื่อยลูกตาปวดศีรษะ ผู้ที่มีสายตายาวมาก  จะมีอาการมากเพราะมองเห็นไม่ชัดทั้งระยะไกลและระยะใกล้   สายตายาวขนาดไม่มาก  และถ้าเป็นในผู้ที่มีกำลังเพ่งมอง (accomodation)   ดี  เช่น  ในวัยเด็ก  กำลังเพ่งมองสามารถช่วยแก้การมองเห็นภาพไม่ชัดให้เป็นภาพชัดได้  พวกนี้จึงไม่ค่อยมีอาการหรือไม่มีอาการเลย
          สาเหตุส่วนใหญ่เนื่องมาจากขนาดของลูกตา จากด้านหน้าไปด้านหลังสั้นกว่าปกติ  ซึ่งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรืออาจเกิดเพราะมีโรคภายในลูกตา
          นอกจากนี้อาจมีสาเหตุมาจากกำลังหักแสงของลูกตาน้อยลง เช่น เป็นโรคของกระจกตา ทำให้กระจกตาแบนลงกว่าเดิม หรือแก้วตาหักแสงได้น้อยลงเช่น ในคนสูงอายุ โรคเบาหวานระยะที่ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลงมากแก้วตาเคลื่อนจากที่เกาะ หลังผ่าตัดเอาแก้วตาออก เป็นต้น
          การแก้ไขเรื่องสายตายาวทำโดยสวมแว่นเลนส์นูน

[กลับหัวข้อหลัก]

แผนภาพแสดงสายตายาว
สายตาสั้น
          ในคนสายตาสั้นนั้น แสงขนานผ่านเข้าลูกตาไปรวมแสงก่อนถึงชั้นประสาทจอตาขณะที่ตาไม่ได้ใช้กำลังเพ่งมอง ทำให้มีอาการมองไกลเห็นไม่ชัด แต่มองของใกล้เห็นได้ชัด เพราะจุดรวมแสงจะถอยห่างออกไปจนไปรวมแสงที่จอตา เมื่อเลื่อนมามองใกล้
          สายตาสั้นมีสองแบบ คือ แบบธรรมดาและ แบบที่เป็นคืบหน้า  ชนิดธรรมดานั้นมักเริ่มเป็นเมื่ออายุ ๓-๔ ปี และสายตาจะสั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยจนถึงวัยหนุ่มสาวจึงหยุด ชนิดที่เป็นคืบหน้านั้นเมื่อเลยวัยหนุ่มสาวไปแล้วสายตาก็ยังคงสั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  ซึ่งส่วนมากจะมีความเสื่อมที่ชั้นประสาทและชั้นหลอดเลือดของลูกตาด้วย
          สาเหตุส่วนใหญ่เกิดขึ้นเนื่องจากขนาดของลูกตาจากด้านหน้าไปด้านหลังยาวกว่าปกติ ซึ่งเป็นเองตามธรรมชาติ หรือเป็นจากกรรมพันธุ์ หรือจากสาเหตุอื่นหลังคลอด เช่น ร่างกายอ่อนแอ เป็นต้น
          นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากกำลังหักแสงของลูกตาเพิ่มมากกว่าปกติ เช่น กระจกตาโค้งมากไป แก้วตาโค้งมากไป ในผู้ป่วยโรคเบาหวานระยะที่มีระดับน้ำตาล|ในเลือดสูง ผู้ป่วยโรคต้อแก้วตาระยะเริ่มเป็น สาเหตุนี้พบน้อยกว่าสาเหตุแรก
          การแก้ไขสายตาสั้นทำได้โดยใส่แว่นเลนส์เว้าให้กระจายแสงออกไปรวมแสงตรงชั้นจอตาพอดี ไม่มีการรักษาด้วยยา การออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย อากาศบริสุทธิ์ รวมทั้งการเลือกงานให้พอเหมาะสำหรับผู้ที่สายตาสั้นมากๆ ก็เป็นการบำบัดอีกทางหนึ่ง

[กลับหัวข้อหลัก]

แผนภาพแสดงสายตาสั้น
สายตาพร่าต่างแนว
          สายตาพร่าต่างแนวเกิดขึ้นเพราะแสงขนานที่ผ่านเข้าลูกตาในแนวตั้งและแนวนอนหรือในแนวอื่นๆ นั้นมีการหักของแสงไม่เท่ากัน แสงจึงไม่รวมที่จุดเดียว  คนสายตาพร่าต่างแนวมองเห็นภาพไม่ชัด  ตัวหนังสือพร่ามีอาการเมื่อยตา ปวดลูกตา ปวดศีรษะ เวียนศีรษะตาลาย
          สาเหตุเกิดจากกระจกตาหรือแก้วตามีความโค้งในแนวตั้งไม่เท่ากับความโค้งในแนวนอน หรือความโค้งในแนวต่างๆ ไม่เท่ากัน อาจเป็นมาแต่กำเนิดหรือเป็นภายหลังเพราะเกิดโรค โรคที่กระจกตา ได้แก่กระจกตาเป็นแผล กระจกตาอักเสบ ได้รับอันตรายก้อนเนื้องอกที่หนังตากด  โรคที่แก้วตาซึ่งพบน้อยได้แก่ แก้วตาเคลื่อนจากที่เกาะ แก้วตาเริ่มเป็นต้อแก้วตา  ในคนปกติกระจกตาในแนวตั้งโค้งมากกว่าแนวนอนเล็กน้อย ทำให้การหักแสงจากทั้งสองแนวต่างกันบ้างไม่มากนัก จนทำให้ไม่เกิดอาการผิดปกติ
          สายตาพร่าต่างแนวจะเกิดในแนวใดก็ได้  เช่น แนว ๙๐°, ๑๘๐°, ๔๕°, ๑๓๕°  สายตาพร่าต่างแนวแนวเดียว  ส่วนอีกแนวหนึ่งเป็นปกติก็มี ชนิดที่พร่าต่างแนวทั้งสองแนวก็มี และมีได้ทั้งชนิดสายตายาวและสายตาสั้น
          แก้ไขเรื่องสายตาพร่าต่างแนวโดยใช้แว่นสายตาชนิดเป็นแว่นรูปทรงกระบอกตามชนิดของสายตาพร่าต่างแนว หรือใช้เลนส์สัมผัส (contact lens)

[กลับหัวข้อหลัก]

แผนภาพแสดงสายตาพร่าต่างแนว
สายตาผู้สูงอายุ
          เป็นการเปลี่ยนแปลงของสายตาเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุซึ่งจะต้องประสบทุกคน สายตาของผู้สูงอายุ (presbyopia) จะมองของใกล้เห็นไม่ชัดในระยะที่เคยมองเห็น เช่น การอ่านหนังสือตัวเล็ก การเย็บเสื้อผ้าและการทำงานใกล้ในระยะเดิม (ประมาณ ๒๒ เซนติเมตร หรือ ๙  นิ้ว) จะเห็นไม่ชัด  ต้องยืดระยะให้ห่างออกไปจึงจะเห็นได้ชัด  ทั้งนี้เป็นเพราะระยะมองใกล้ของลูกตาในคนสูงอายุเลื่อนห่างออกไปจากระยะปกติเพราะแก้วตาขาดความยืดหยุ่นไปตามวัย และกล้ามเนื้อซิเลียรีอ่อนกำลังลง จึงเพ่งมองของในระยะที่เคยทำได้ไม่ได้  ในต่างประเทศ อายุที่เริ่มมีสายตาชนิดนี้อยู่ระหว่างอายุ ๔๐-๔๕ ปี ในประเทศไทยเริ่มเร็วกว่า คือ เริ่มเมื่ออายุเกิน ๓๖ ปีไปแล้ว  อาการมองของใกล้เห็นไม่ชัดอาจเห็นดีขึ้นถ้าใช้แสงสว่างเพิ่ม เพราะรูม่านตาหดตัวในที่ที่มีแสงสว่างมากจึงลดอาการตาพร่าได้ เมื่อเป็นอยู่นานๆ มีอาการปวดเมื่อยลูกตา  อ่านหนังสือได้ไม่ทน น้ำตาไหล สายตามัว จะมีอาการมากเมื่ออยู่ในที่ที่มีแสงสว่างน้อย
          การแก้ไขทำได้โดยให้ใส่แว่นสายตาชนิดแว่นเลนส์นูน  อาจทำเป็นแว่นตา ๒ ชั้น เพื่อให้ดูได้ทั้งใกล้และไกล

[กลับหัวข้อหลัก]
สายตากลับ
          คนที่สายตาสั้นมาตั้งแต่วัยหนุ่มสาวต้องใส่แว่นสายตา เมื่ออายุมากขึ้นเวลามองใกล้สายตาเริ่มยาวซึ่งถ้าเป็นขนาดเดียวกับที่สายตาเคยสั้น  จะทำให้สายตาในวัยนั้นเป็นเหมือนสายตาปกติไม่ต้องใส่แว่นตาเวลามองใกล้ที่เรียกว่า สายตากลับ

[กลับหัวข้อหลัก]
สายตาที่ใช้งานไม่ได้
          ผู้ป่วยตาเหล่ชนิดกล้ามเนื้อกลอกตาเป็นอัมพาตมีอาการมองเห็นเป็นสอง หรือเห็นภาพซ้อน แต่ผู้ป่วยตาเหล่ชนิดที่กล้ามเนื้อกลอกตาไม่ได้เป็นอัมพาตไม่มีอาการนี้ ทั้งนี้เพราะสมองไม่รับภาพจากตาข้างที่เห็นน้อยกว่า (เพราะสายตาผิดปกติ) ถ้าไม่ได้รักษา ตาข้างนั้นจะมีสายตาที่ใช้งานไม่ได้ (amblyopic eye) กล่าวคือสามารถใช้ตาข้างนั้นมองเห็นได้เท่าที่เป็นอยู่  แต่ไม่สามารถจะประกอบแว่นตาหรือแก้ไขอย่างอื่นให้เห็นได้ดีกว่า รวมทั้งไม่สามารถใช้สายตาข้างนั้นในการประกอบอาชีพได้ เราเรียกอาการสายตาผิดปกติชนิดนี้ว่า ตาบอดเศรษฐกิจ (economic blind) การรักษาตาเหล่หรือสายตาผิดปกติตั้งแต่ในระยะแรกเป็น จะช่วยป้องกันไม่ให้สายตาเสีย

[กลับหัวข้อหลัก]
ลานเห็น
          ลานเห็นหรือลานสายตา (visual field) เป็นขอบเขตของบริเวณที่มองเห็นซึ่งใช้เครื่องวัดได้ อาณาเขตหรือความกว้างของลานเห็นถูกกำหนดโดยบริเวณจอตาที่ใช้งานได้ และรูปร่างของใบหน้า แสงสว่างที่สามารถผ่านเข้าไปถึงแก้วตาและผ่านไปยังจอตาเท่านั้นที่จะทำให้เกิดการมองเห็น ลานเห็นของตาข้างเดียวมองเห็นได้กว้างประมาณ  ๑๐๐ องศาทางด้านข้าง ๖๐ องศาทางด้านบนและด้านใกล้จมูก ๗๕ องศาทางด้านล่าง  เมื่อมองพร้อมกันทั้งสองตา ลานเห็นของตาแต่ละข้างจะเหลื่อมกันตรงกลาง  ในการตรวจลานเห็นมักตรวจที่ละข้างลานเห็นที่ผิดปกติไป เช่น แคบลง หรือบางส่วนขาดหายไป จะตรวจพบได้ในโรคต้อหิน โรคของประสาทตา โรคของสมองส่วนที่ใกล้เคียงกับทางผ่านของประสาทตาในสมอง

[กลับหัวข้อหลัก]

แผนภาพแสดงลานเห็นหรือลานสายตา
อาการเตือนทางตาของเด็กที่แสดงว่าสายตาผิดปกติ
        นิสัย
         ๑. เด็กขยี้ตาเสมอ
         ๒. เวลาดูของมักปิดตาข้างหนึ่ง ดูด้วยตาข้างเดียว
         ๓. เวลาอ่านหนังสือมักจะคลอนศีรษะไปมา
         ๔. กะพริบตามากกว่าปกติ
         ๕. หยิบของและวางของผิดที่เสมอ
         ๖. มองไกลไม่ชัด
         ๗. ขมวดคิ้วเข้าหากันเวลาดูของใกล้

        ปรากฏการณ์ของเด็ก
         ๑. ตาเหล่
         ๒. ตาแดงเรื่อๆ เสมอ และหนังตาบวม
         ๓. ตาอักเสบและน้ำตาไหล
         ๔. เป็นฝีกุ้งยิงบ่อยๆ

        อาการ
        ๑. เด็กรู้สึกคันและเคืองตาเสมอ
        ๒. มองไม่ชัด
        ๓. เห็นของเป็นสองสิ่งหรือเห็นภาพซ้อน
        ๔. เวลาอ่านหนังสือหรือทำการฝีมือ มักเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ  และคลื่นไส้

        อาการอันตรายของโรคตาที่อาจทำให้ตาบอด
        ๑. ตามัว มองเห็นพร่า เห็นเป็นรุ้ง
        ๒. ตาแดง
        ๓. ดูของเห็นเป็นสองภาพ ตาเหล่
        ๔. ปวดตา ปวดศีรษะ
        ๕. น้ำตาไหลเสมอ
        ๖. เปลี่ยนแว่นตาบ่อยๆ
        ๗. ดูของเห็นไม่เต็มภาพ เห็นผิดขนาดผิดรูป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น