วันจันทร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2556

สงครามโลกครั้งที่ 1

สงครามโลกครั้งที่ 1
สงครามที่ทำให้โลกตกอยู่ในภาวะตรึงเครียด และเศรษฐกิจทรุดตัวอย่างหนัก สงครามที่ดำเนินมาอย่างยาวนานถึง 4 ปี (ค.ศ.1914 – 1918)  เป็นสงครามครั้งแรกที่ขั้วอำนาจของโลกถูกแบ่งเป็น 2 ฝ่าย ระหว่างฝ่าย พันธมิตร (รัสเซีย,ฝรั่งเศส,อังกฤษ,อิตาลี,สหรัฐ,ญี่ปุ่น,โรมาเนีย,เซอร์เบีย,เบล เยี่ยม,กรีซ,โปรตุเกส,มองเตเนโกร)  และฝ่ายมหาอำนาจกลาง (เยอรมนี,ออสเตรีย-ฮังการี,ตุรกี,บัลแกเรีย) สงครามสิ้นสุดด้วยการปราชัยของฝ่ายมหาอำนาจกลาง และเกิดสหภาพโซเวียตขึ้น จากการล่มสลายของจักรวรรดิรัสเซีย จากเหตุการณ์ปฎิวัติรัสเซีย สหรัฐอเมริกาก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในมหาอำนาจของโลก และเกิดองค์การสันนิบาติชาติขึ้น เพื่อแก้ไขข้อพิพาทระหว่างประเทศด้วยการทูต   ภายหลังสงครามครั้งนี้ยังนำไปสู่ สนธิสัญญา ที่เป็นชนวนของสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกด้วย ชื่อสนธิสัญญา แวร์ซายส์

เหตุการณ์ที่นำไปสู่ความรุนแรงของสงคราม
28 มิถุนายน ค.ศ. 1914 อาร์คดุ๊ค ฟรานซ์ เฟอร์ดินันด์ รัชทายาทของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีถูกลอบปลงประชนม์โดยนักศึกษาชาวเซิร์บ ในเมืองซาราเจโวของบอสเนีย หลังจากนั้น 1 เดือน ออสเตรียจึงประกาศสงครามกับเซอร์เบีย

28 กรกฎาคม ค.ศ. 1914 ออสเตรียประกาศสงครามกับเซอร์เบีย การประกาศสงครามของออสเตรีย ส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ในอีกหลายประเทศ มหาอำนาจในยุโรปจำนวนมาก ต้องเข้าสู่สงคราม เนื่องจากข้อตกลงการป้องกันร่วมกัน และการเข้าแทรกแซงสงครามของประเทศพันธมิตร
รัสเซียให้ความสนับสนุนเซอร์เบีย  โดยส่งทหารกว่า 1 ล้านคน ไปตามจุดยุทธศาสตร์ต่าง ๆ
เยอรมนี ให้ความสนับสนุน ออสเตรีย ประเทศพันธมิตร
เยอรมนี ยื่นคำขาด เรียกร้องให้รัสเซียหยุดทำการระดมพล แต่รัสเซียปฏิเสธ

1 สิงหาคม ค.ศ. 1914 เยอรมนีประกาศสงครามกับรัสเซีย โดยเยอรมนี ได้เตรียม แผนการชลีฟเฟ่น ไว้รับมือกับสงครามครั้งนี้ โดยแผนการ ชลีฟเฟ่น จัดเตรียมขึ้นในปี ค.ศ. 1905 โดย  นายพลอัลเฟรด ฟอน ชลีฟเฟ่น เสนาธิการของเยอรมนีในขณะนั้น โดยสาระสำคัญของแผ่นการนี้คือ เยอรมนี จะทำการรบทั้ง 2 ด้าน โดยจะต้องทำการรบให้ชนะฝรั่งเศสอย่างรวดเร็ว ก่อนที่จะทำการรบกับรัสเซีย โดยเยอรมนีจะต้องบุกเบลเยียม เพื่อผ่านเข้าไปทางแนวป้องกันของฝรั่งเศส แล้วโอบล้อมฝรั่งเศสไว้เป็นรูปวงโค้งใหญ่ ก่อนที่ฝรั่งเศสจะระดมพล แล้วจึงจะบุกไปทางตะวันออกเพื่อปราบรัสเซีย โดยเดินไปตามทางรถไฟ ซึ่งเยอรมนีได้จัดเตรียมไว้ สาเหตุที่ เลือกโจมตีฝรั่งเศสก่อน เนื่องมาจากรัสเซียมีอาณาเขตกว้างใหญ่หากจะรบให้ชนะต้องใช้เวลานาน การโจมตีฝรั่งเศสจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

แผนการชลีฟเฟ่น ซึ่งถูกคิดขึ้นในปี 1905 โดย นายพลอัลเฟรด ฟอน ชลีฟเฟ่น
3 สิงหาคม ค.ศ. 1914 เยอรมนีประกาศสงครามกับฝรั่งเศส
4 สิงหาคม ค.ศ. 1914 เยอรมนีบุกเข้าไปในเบลเยี่ยม ตามแผนการที่วางไว้
การบุกเข้าไปในเบลเยี่ยม ของเยอรมนี ทำให้อังกฤษเข้าร่วมสงคราม เป็นศัตรูกับเยอรมนี  เพื่อคุ้มครองเบลเยี่ยมตามสนธิสัญญาแห่งลอนดอน ค.ศ. 1839 ที่หลายๆ ประเทศมหาอำนาจร่วมกันค้ำประกันความเป็นกลางของเบลเยี่ยม

สงครามควรจะเป็นไปตามแผนการที่เยอรมนีวางไว้ หากเยอรมนีไม่ประเมินกำลังของฝ่ายศัตรูต่ำเกินไป จักรพรรดิไกเซอร์ วิลเฮล์ม ที่ 2 จักรพรรดิ เยอรมนี ในขณะนั้น ทรงตรัสกับทหารของท่านว่า “จงจำไว้ เราสามารถเข้าถึงกรุงปารีสภายใน 2 สัปดาห์” แต่ในความเป็นจริง กลับไม่ได้เป็นไปตามที่ ฝ่ายเยอรมนีคาดการณ์ไว้ เบลเยี่ยมทำการต่อต้านทหารของเยอรมนีอย่างเหนียวแน่น รัสเซียเคลื่อนกำลังพลอย่างรวดเร็ว โจมตีปรักเซียตะวันออก ทำให้เยอรมนี ต้องแบ่งกองทัพเพื่อตั้งรับ แทนที่จะทุ่มกำลังทั้งหมดพิชิตเบลเยี่ยมตามแผนการ ชลีฟเฟ่น  แต่ในภายหลังเยอรมนีก็สามารบุกถึงฝรั่งเศสได้ แต่ช้ากว่าที่กำหนดในแผนการไว้มาก แต่เยอรมนีก็ไม่ได้โอบล้อมกรุงปารีสไว้ ตามแผนการ ชลีฟเฟ่น แต่กลับเคลื่อนทัพไปทางตะวันออกเฉียงใต้ข้ามแนวป้องกันของกรุงปารีสแทน เมื่อเยอรมนีไม่สามารถทำตามแผนการ ชลีฟเฟ่น ที่ต้องการให้เยอรมนีบุกโจมตีแบบสายฟ้าแลบ ทำให้เยอรมนีต้องเจอสงครามที่ยืดเยื้อตามมาในอนาคต และห่างไกลจากชัยชนะออกไป

แนวการรบในแดนตะวันตก
การขุดดินทำสนามเพลาะ แม้จะไม่ใช่วิธีใหม่ในสงคราม แต่ถือได้ว่าเป็นวิธีการตั้งรับที่ดีผลดีที่สุดในขณะนั้น ในยุทธการแม่น้ำซอมม์ กองทัพฝ่ายพันธมิตรต้องการที่จะรุกคลืบเข้าไปในเขตแนวการตั้งรับของฝ่าย เยอรมันที่เต็มไปด้วยสนามเพลาะ ผลจากการกระทำของฝ่ายพันธมิตรครั้งนี้คือ ความสูญเสียชีวิตทหารจำนวนมาก แต่ฝ่ายเยอรมันเองก็ไม่สามารถที่จะโจมตีผ่านแนวรบของฝ่ายพันธมิตรได้ ทำให้ทั้ง 2 ฝ่าย ได้แต่ตั้งรับในเขตแดนของตนเอง

 

ต่างฝ่ายต่างคิดยุทธวิธีใหม่ๆ เพื่อใช้ในการรบ แต่ในที่สุดอาวุธที่ทำให้แนวรบด้านตกวันตกถึงขั้นแตกหักได้ ได้แก่รถถังซึ่งอังกฤษผลิตออกมาใช้ครั้งแรกใน ยุทธภูมิแม่น้ำซอมม์ ในปี ค.ศ. 1916 แต่ในครั้งนั้นไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เพราะรถถังเคลื่อนตัวได้ช้า และมีจำนวนไม่มากนัก แต่ฝ่ายพันธมิตรก็ยังตั้งหน้าตั้งตาผลิตต่อไป จนในปี ค.ศ. 1918 รถถังและการบินระยะต่ำ ๆ ก็ทำให้ฝ่ายพันธมิตรประสบชัยชนะขั้นเด็ดขาด จนนายพล ลูเดนดอร์ฟ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเยอรมนีแน่ใจว่าเยอรมนีแพ้สงคราม

การนำหน้าโดยรถถัง คอยทำลายแนวลวดหนาม และการสนับสนุนของทหารราบ
ทำให้กองทัพเยอรมันต้องล่าถอย และแพ้สงครามในปี 1918

แนวในการรบในแดนตะวันออก
แม้ในแดนตะวันตก จะมีฝ่ายใดเอาชัยเหนืออีกฝ่ายได้ แต่ในแดนตะวันออก กลับเป็นการรบที่ต้องรุกต้องถอยกลับไปกลับมา คลุมพื้นที่ระหว่างบอลติกกับทะเลอาซอฟ กองทัพรัสเซียวางแผนที่จะโจมตีในหลาย ๆ ทิศทางโดยพุ่งเป้าหมายไปยังแคว้นกาซิเลียของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี และปรัสเซียตะวันออกของเยอรมนี การรุกเข้าไปยังแคว้นกาซิเลียประสบความสำเร็จ แต่ด้านปรัสเซียตะวันออกกลับประสบความความล้มเหลว ในระหว่างเดือนสิงหาคมกับ เดือนกันยายนของปี ค.ศ. 1914

แต่ในปี ค.ศ. 1916 นายพลบรูซิลอฟแม่ทัพรัสเซียได้นำการบุกครั้งใหญ่ กดดันให้เยอรมนีต้องนำกำลังทหาร 35 กองพล จากด้านตะวันตกเพื่อมาช่วยรบกับ กองกำลังของนายพลบรูซิลอฟ และในปลายปี กองทัพรัสเซียถูกกองทัพเยอรมนีตีจนต้องถอยร่นกลับไปทางตะวันออก หลังจากเริ่มปี ค.ศ. 1917 ได้เพียงไม่กี่เดือน ก็เกิดเหตุความไม่สงบขึ้นในรัสเซีย และนำไปสู่ การปฎิวัติรัสเซีย ขึ้น ทำให้รัสเซียต้องถอนตัวจากฝ่ายพันธมิตร และการประกาศเลิกสงคราม

การรบทางทะเล
เยอรมนี – อังกฤษ เผชิญหน้ากันเพียงครั้งเดียวที่ยุทธภูมิจัทแลนด์ ปี ค.ศ. 1916 เป็นยุทธนาวีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งไม่มีฝ่ายได้เป็นฝ่ายมีชัย ภายหลังเยอรมนีหันมาใช้เรือดำน้ำ โจมตีเรือพาณิชย์ของฝ่ายพันธมิตร ในช่วงเวลาเพียง 3 เดือน เรือดำนั้นของเยอรมนี สามารถจมเรือพาณิชย์ของฝ่ายพันธมิตรได้จำนวนมาก หนึ่งในนั้นมีเรือ ลูซิทาเนีย ของสหรัฐอเมริกาอยู่ด้วย ซึ่งทำให้สหรัฐอเมริกาต้องเข้าร่วมสงครามในเวลาต่อมา

การเข้าร่วมสงครามของสหรัฐอเมริกา
การปิดล้อมทางทะเลของอังกฤษ เพื่อหวังให้ฝ่ายเยอรมันขาดแคลนอาหาร ทำให้เยอรมนีต้องตอบโต้ด้วยการออกปฏิบัติการเรือดำน้ำแบบไม่จำกัดขอบเขต ในกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1917 ทำให้เรือพาณิชย์ของฝ่ายพันธมิตรถูกจมไปคิดเป็นปริมาณเฉลี่ยกว่า 500,000 ตันต่อเดือน ภายหลัง ฝ่ายพันธมิตรได้แก้ปัญหาโดยให้มีเรือพิฆาตคอยคุ้มกันเรือพาณิชย์

ในช่วงต้นของสงคราม สหรัฐอเมริกาวางตัวเป็นกลาง ไม่เข้าร่วมสงคราม แต่หลังจากที่เรือดำน้ำเยอรมนี ได้จมเรือ ลูซิทาเนีย ซึ่งมีชาวอเมริกันอยู่ 128 คน ทำให้ วูดโรว์ วิลสัน ประธานาธิบดีของสหรัฐเกิดความไม่พอใจเป็นอย่างมาก ต่อมาในภายหลังเยอรมนีได้ยกเลิก ปฏิบัติการเรือดำน้ำแบบไม่จำกัดขอบเขตตามข้อเรียกร้องของสหรัฐอเมริกา

ต่อมาในเดือนมกราคม ค.ศ. 1917 เยอรมนีได้กลับมาใช้ ปฏิบัติการเรือดำน้ำแบบไม่จำกัดขอบเขตอีกครั้ง และได้มีการส่งรหัสลับจากกรุงเบอร์ลินไปยังเม็กซิโก โดยได้เชิญชวนเม็กซิโกเป็นพันธมิตรกับเยอรมนี ต่อต้านสหรัฐอเมริกา และได้มีการเสนอผลตอบแทนเป็น รัฐเท็กซัส รัฐนิวเม็กซิโกและรัฐแอริโซน ของสหรัฐอเมริกาเพื่อเป็นการตอบแทน แต่หน่วยถอดรหัสของราชนาวีอังกฤษ สามารถแกะรหัสลับได้ และได้มีการเปิดเผยต่อสหรัฐ ซึ่งต่อมาสหรัฐได้ประกาศสงครามในวันที่ 6 เมษายน ค.ศ. 1917

จุดจบของสงคราม
การเข้าสู่สงครามของสหรัฐอเมริกา ถือว่าเป็นกุญแจแห่งชัยชนะของฝ่ายพันธมิตรเลยก็ว่าได้ เพราะนอกจากกำลังทหารที่สหรัฐอเมริกา ได้นำมาช่วยแล้ว ยังมีทรัพยากรมหาศาล เพราะในขณะนั้นรัสเซียได้ประกาศเลิกสงครามและทิ้งการรบด้านตะวันตกไป จากการปฏิวัติรัสเซีย

 

21 มีนาคม 1918 เยอรมนีบุกครั้งใหญ่ในด้านตะวันตก โดยหวังให้ กองทัพอังกฤษ และฝรั่งเศส แยกออกจากกัน ก่อนที่กองกำลังสหรัฐจะมาสนับสนุน  โดยโจมตีกองทัพอังกฤษที่อาเมียนส์อย่างหนัก ทำให้กองทัพพันธมิตรไม่สามารถต้านทานได้ กองทัพเยอรมนีสามารถรุกเข้าไปได้เกือบที่จะถึงกรุงปารีส ชัยชนะของเยอรมนีอยู่ใกล้แค่เอื้อม แต่แล้วเยอรมนีก็ต้องฝันสลาย พร้อมกับการมาถึงของกองทัพสหรัฐ

ในยุทธภูมิอาเมียนส์ มีรถถังคอยทำลายแนวลวดหนาม พร้อมด้วยการสนับสนุนของทหารราบ ทำให้กองทัพพันธมิตรสามารถกดดันให้กองทัพเยอรมนีต้องล่าถอย จนกลับไปสู่แนวพรมแดนของตนเอง และแล้วความปราชัยของเยอรมนีก็มาถึง

4 ตุลาคม ค.ศ. 1918 เยอรมนีได้ส่งคำร้องขอยุติสงครามไปยัง วูดโรว์ วิลสัน ประธานาธิบดีของสหรัฐในขณะนั้น วูดโรว์ วิลสัน ได้ยื่นเงื่อนไขในการยุติสงคราม 14 ข้อ โดยไม่ได้ปรึกษากับฝ่ายพันธมิตร
   1. ห้ามทำสนธิสัญญาลับระหว่างประเทศ
   2. เสรีภาพทางท้องทะเลแม้ในยามสงคราม
   3. การค้าเสรีระหว่างประเทศ
   4. การลดอาวุธ
   5. แก้ไขการอ้างสิทธิอาณานิคม
   6. เยอรมนีต้องถอนตัวออกจากดินแดนของรัสเซีย
   7. อิสรภาพของเบลเยี่ยม
   8. ต้องคืนแคว้นอัลซัค – ลอร์เรนให้ฝรั่งเศส
   9. ต้องปรับพรมแดนของอิตาลี
  10. ให้โอกาสปกครองตนเอง แก่จักรวรรดิออสเตรีย – ฮังการี
  11. ต้องฟื้นฟูรัฐบอลข่าน และเซอร์เบียต้องมีทางออกทะเล
  12. ประชากรที่ไม่ใช่ชาวเติร์กในจักรวรรดิตุรกีต้องเป็นอิสระ
  13. สร้างโปแลนด์ขึ้นใหม่
  14. ต้องจัดตั้งองค์การระหว่างประเทศ

หลักการ 14 ประการของ ประธานาธิบดี วูดโรว์ วิลสัน มุ่งหวังที่จะให้เกิดสันติภาพแก่โลก แต่น่าเสียดายที่สันติภาพ

โลกไม่สามารถลบล้างความแค้นของฝ่ายพันธมิตรได้ โดยถูกสนธิสัญญาแห่งความแค้น สนธิสัญญาที่เป็นชนวนของสงครามที่รุนแรงกว่า เลวร้ายกว่า และสูญเสียมากกว่าสงครามโลกครั้งที่ 1 นี้หลายเท่านั้น คือ “สงครามโลกครั้งที่ 2” สนธิสัญญาแห่งความแค้นนี้ชื่อว่า “สนธิสัญญาแวร์ซายส์”

และในระหว่างที่เยอรมนี กำลังดำเนินการยุติสงคราม ประเทศฝ่ายมหาอำนาจกลาง ก็ได้แพ้สงครามดังนี้
30 กันยายน ค.ศ. 1918  บัลแกเรีย ประกาศยอมแพ้สงคราม
31 ตุลาคม ค.ศ. 1918  ตุรกี ประกาศยอมแพ้สงคราม
3 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918 ออสเตรีย ประกาศยอมแพ้สงคราม
ภายหลังจากเยอรมนีสงครามยุติ พระองค์ทรงสละราชสมบัติ และเสด็จไปประทับอยู่ที่ประเทศ เนเธอร์แลนด์
เหตุการณ์หลังจากสงครามสงบ
7 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918  เยอรมนีรับเงื่อนไขการสงบศึก
9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918 จักรพรรดิไกเซอร์ วิลเฮล์ม ที่ 2 ของเยอรมนี และมกุฎราชกุมารเสด็จไปประทับที่เนเธอร์แลนด์
11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918 สัญญาสงบศึกมีผลบังคับใช้

และแล้วสงครามที่ดำเนินมายาวนานถึง 4 ปี ก็สงบลง แต่ความแค้นในใจมนุษย์ไม่มีวันหมด โดยเยอรมนี ได้ลงนามในสนธิสัญญา แวร์ซายส์ ในวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1919 แต่สันติภาพไม่คงทน อีก 20 ปีต่อมา ก็บังเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น