วันเสาร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

เมืองไทยในอดีต/ประวัติเกวียน


เมืองไทยในอดีต/ประวัติเกวียน

ประวัติเกวียน[แก้ไข]

ในสมัยโบราณ บรรพบุรุษของเราไม่ใช่โง่อย่างที่พวกฝรั่งจ๋าเข้าใจเลย ไม่ใช่ท่านจะเป็นแต่ขุดคลอง ไม่ใช่จะรู้แต่วิชาต่อเรือ รถท่านก็ทำได้ ทำได้ดีเสียกว่ารถที่ฝรั่งทำเสียอีก ลงทุนก็น้อย น้ำมันก็ไม่ต้องใช้ วิ่งได้แม้กระทั่งในโคลนในเลน ทางขรุขระเป็นหลุมเป็นบ่อวิ่งได้ทั้งนั้น รถฝรั่งที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ลองเอาไปวิ่งกลางทุ่งดูซี รับรองว่าเจ๊งเด็ด ๆ วิ่งไม่ได้แน่ ๆ ใครขืนเอาไปวิ่ง ถ้าไม่ชำรุดก็พังยับไปทั้งคันทีเดียว แต่รถปู่ย่าตายายของเราซีท่าน ถนนก็วิ่งได้ กลางทุ่งก็วิ่งสบาย วิ่งในป่าก็สะดวก ขึ้นเขาลงห้วยวิ่งได้ทั้งนั้น เครื่องอะไหล่ก็ไม่ต้องเตรียมอะไรไป เกิดขลุกขลักหาเอาข้างทางก็มีถมไป เสียเปรียบรถฝรั่งอยู่นิดที่มันช้า แต่ถ้าพูดถึงน้ำใจละก็ซื่อสัตย์เป็นที่สุด รถโบราณที่ว่านี้เรียกกันว่า เกวียน
เกวียน นับว่าเป็นรถชนิดแรกที่มีในเมืองไทย มีสองล้อใช้ควายหรือวัวเทียมลากจูง ความเร็วของเกวียน ท่านว่าเท่ากับความเร็วแห่งอาการเดินของควายและวัวแล
ถ้าจะสืบที่มาของเกวียน กล่าวกันว่า มนุษย์รู้จักใช้เกวียนเทียมสัตว์มาแต่ดึกดำบรรพ์ทีเดียว แต่ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าเริ่มมีขึ้นในสมัยไหนก่อน หลักฐานทางประวัติศาสตร์กล่าวว่า ในสมัยกรีกและโรมันมีรถเทียมม้าใช้แล้ว บางทีรถชนิดนี้ใช้ในการสงครามด้วย เรียกว่ารถศึก สำหรับในทางเอเชีย รู้จักใช้วัวมาแต่ก่อนพุทธกาล แม้องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเองก็ยังได้ทรงใช้รูปล้อเป็นสัญญลักษณ์ของพระธรรมจักรกัปปวัตนสูตร หนังสือที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาก็ได้กล่าวถึงการใช้เกวียนกันอยู่ เช่นเรื่องกองทัพธรรมกล่าวว่า พระเอกเป็นลูกชายนายกองเกวียน เรื่องกามนิต พระเอกคือกามนิตโดยสารไปในขบวนเกวียนของพ่อค้าก่อนที่จะผจญกับกองโจร เป็นต้น หนังสือเรื่องสามก๊ก ขงเบ้งยังได้ประดิษฐ์โคยนตร์ขึ้นใช้แทนวัวควาย และได้นั่งเกวียนออกตรวจค่าย เมื่อตอนรบกับสุมาอี้
สำหรับในเมืองไทยเรา ไม่ปรากฏแน่ชัดว่า เกวียนเริ่มใช้กันมาแต่เมื่อไร ทราบจากหนังสือที่กล่าวถึงเหตุการณ์สมัยเก่า ๆ อ้างแต่ว่าได้ใช้เกวียนกันแล้ว เช่น หนังสือพงศาวดารเหนือกล่าวถึงเหตุการณ์ก่อนตั้งกรุงสุโขทัยอันถือว่าตอนนั้นเป็นยุคต้นของไทยสมัยปัจจุบัน ไว้ในเรื่องพระร่วงเมืองสุโขทัยว่า นักคุ้มคุมเกวียน ๕๐ เล่มกับไพร่พันหนึ่งมาทวงส่วยน้ำเมืองละโว้ และเมื่อได้มาคำนึงถึง “ถนนพระร่วง” อันเป็นถนนที่สร้างในยุคต้นกรุงสุโขทัย เชื่อมการคมนาคมระหว่างเมืองกำแพงเพชร์ (ชากังราว) กับกรุงสุโขทัย และต่อจากสุโขทัยไปยังเมืองสวรรคโลก (ศรีสัชนาลัย) อันนับว่า เป็นถนนสายแรกที่มีขึ้นในเมืองไทยด้วยแล้ว ความจริงเรื่องการใช้เกวียนในยุคกรุงสุโขทัยจึงเป็นเรื่องที่เห็นเด่นชัดขึ้น
การใช้เกวียนในสมัยโบราณนั้นแพร่หลายมาก เกวียนเป็นพาหนะใช้ขนส่งได้ทุกชนิด เช่นใช้ลำเลียงข้าว บรรทุกคนโดยสารเมื่อต้องการอพยพหรือย้ายถิ่น ในสมัยหลัง ๆ เคยมีปรากฏว่า สมุหเทศาภิบาลใช้ “เกวียนด่วน” เดินทางจากเมืองอุบลฯ เข้ามาประชุมที่กรุงเทพฯ โดยใช้วิธีนั่งเกวียนมาเป็นทอด ๆ คือมีเกวียนคอยสับเปลี่ยนมาเป็นระยะจนถึงกรุงเทพฯ ประโยชน์สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ ข้าราชการฝ่ายปกครอง เป็นต้นว่านายอำเภอหรือเจ้าเมือง เวลาออกตรวจราชการก็ได้ใช้เกวียนนี่แหละเป็นพาหนะสำคัญ เกวียนตรวจราชการนี้มีที่สำหรับเขียนหนังสือ ที่นอนเสร็จ เวลาหยุดพักไม่ต้องไปขอพักกับบ้านราษฎรให้เป็นที่เดือดร้อนหรือเป็นภาระกังวล ใต้ถุนเกวียนก็ใช้เป็นที่หุงหาต้มแกงได้ ฝนตกแดดออกก็ไม่ต้องกลัว เพราะเกวียนประเภทนี้มีเก๋งหรืออย่างเลวก็มีหลังคาไว้พร้อม ในสมัยโบราณ ถ้าจะพูดถึงประโยชน์ของเกวียนกันแล้ว พูดไม่รู้จักจบจักสิ้นเอาเป็นอันว่า เกวียนได้ทำคุณประโยชน์ให้แก่บรรพบุรุษของเราไว้มากก็แล้วกัน
พูดถึงรูปร่าง เกวียนมีรูปร่างต่าง ๆ หลายแบบหลายขนาด แต่เมื่อแยกออกโดยกว้าง ๆ แล้ว เกวียนมี ๒ ชนิด คือเกวียนวัวชนิดหนึ่ง เกวียนควายอีกชนิดหนึ่ง
เกวียนวัว มีลักษณะเตี้ยและกว้างกว่าเกวียนควาย ใช้ในท้องถิ่นที่เป็นดอนมากกว่าที่ลุ่ม หรือในภูมิประเทศที่ค่อนข้างแห้งแล้ง เพราะวัวทนความร้อนได้ดีกว่าควาย จังหวัดที่ใช้เกวียนวัวกันมาก เช่น ลพบุรี สระบุรี นครราชสิมา อุดร ลำปาง เชียงใหม่ ฯลฯ เป็นต้น บางแห่งเรียกระแทะหรือบางทีก็เรียกล้อ วัวที่ใช้เทียมเกวียนใช้วัวคู่หนึ่ง ลากเกวียนไปข้างหน้า ส่วนเกวียนควายมีลักษณะสูงและยาวกว่าเกวียนวัว ใช้ในภูมิภาคที่เป็นที่ลุ่มมากกว่าที่ดอน เช่น ในแถบจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปราจีณบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี ราชบุรี เพชรบุรีเป็นต้น โดยปกติใช้ควายตัวเดียวเทียมลาก
เรื่องเกวียนนี้ คุณหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์เขียนเล่าไว้ว่า “เกวียนวัวและเกวียนควายชั้นแรกทีเดียวใครจะเป็นผู้คิดขึ้นนั้น ยังไม่พบหลักฐาน แต่เชื่อได้ว่าคงจะได้คิดเปลี่ยนแปลงแก้ไขกันมาแล้วหลายครั้งหลายหน จนในเวลานี้นับว่าเรียบร้อยถึงที่สุด ซึ่งไม่มีใครที่จะเพิ่มเติมส่วนใดเข้าหรือตัดส่วนใดออกได้อีก นอกจากจะตบแต่งตัวไม้นั้น ๆ ให้สวยงามกว่ากันเท่านั้น ครั้งหนึ่งมีฝรั่งเป็นพ่อค้ารถยนต์คนหนึ่งมาชมพิพิธภัณฑ์สถานฯ ข้าพเจ้าพาให้ไปดูตัวอย่างเกวียนภาคต่าง ๆ ในสยาม เขากล่าวว่า เกวียนเป็นของที่ทำขึ้นสำเร็จอย่างน่าชมที่สุด ซึ่งเวลานี้ถ้าจะให้เขาคิดแก้ไขส่วนใดส่วนหนึ่งให้ดีขึ้น เขาก็ยอมแพ้ ว่าจะเพิ่มเติมอะไรของเขาอีกไม่ได้เลย”
เห็นไหมล่ะ ปัญญาไทยก็ใช่เล่นอยู่เมื่อไร ฝรั่งยังยอมยกนิ้วให้
พูดถึงส่วนต่าง ๆ ของเกวียน ทำด้วยไม้ทั้งสิ้น และทำด้วยไม้ประดู่และไม้แดงเป็นส่วนมาก เพราะไม้นี้แข็งแรงทนทาน รับน้ำหนักได้มาก ยิ่งกว่านั้น ยังเป็นไม้ที่มีสะปริงในตัว ไม่หักง่ายเหมือนไม้อื่น
เกวียนได้ถูกใช้เป็นพาหนะในการขนส่ง และการอื่น ๆ มานาน จนถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ จึงได้มีการตราข้อบังคับขึ้นใช้ควบคุมการใช้เกวียนโดยเฉพาะ เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๗ พระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ ข้าหลวงใหญ่ และพระยาเจริญราชไมตรี ข้าหลวงยุติธรรมมณฑลพายัพ ได้กราบบังคมทูลเข้ามาว่า ที่เมืองเชียงใหม่ถนนหนทางและสะพานต่าง ๆ ชำรุดทรุดโทรมเสียหาย เป็นอันตรายแก่ผู้สัญจรไปมา ความเสียหายเหล่านี้เกิดแต่การปล่อยให้คนขี่ควบสัตว์พาหนะวิ่งห้อ และขับเกวียนตามถนนหรือบนสะพาน จึงขอพระบรมราชานุญาต ประกาศข้อบังคับห้ามขี่ควบสัตว์พาหนะและขับเกวียนตามถนนในเมืองเชียงใหม่ทุกสาย ถ้าผู้ใดฝ่าฝืนจะถูกปรับไม่เกิน ๒๐ บาท หรือจำคุกไม่เกิน ๑ เดือน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประกาศใช้ข้อบังคับนี้ได้ จึงนับว่าข้อบังคับนี้ เป็นกฎหมายว่าด้วยเกวียนฉบับแรกของเมืองไทย แม้จะประกาศใช้เฉพาะในเขตจังหวัดเชียงใหม่ก็ตาม
ต่อมา ในแผ่นดินพระบามสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้ออกพระราชบัญญัติขนาดเกวียน พ.ศ. ๒๔๕๙ ขึ้นใช้ และบังคับให้ผู้มีเกวียนอยู่ในครอบครองต้องนำไปจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงาน ต่อมาอีกปีหนึ่ง ก็ได้ตราพระราชบัญญัติล้อเลื่อน พ.ศ. ๒๔๖๐ ใช้เฉพาะในเขตจังหวัดพระนคร บรรดาล้อเลื่อนทั้งหลาย ทั้งที่ลากด้วยแรงคน แรงสัตว์ หรือแรงเครื่องจักร ต้องไปจดทะเบียน แม้คนขับก็ต้องไปจดทะเบียนคนขับทุกปี เท่ากับว่าต้องมีใบอนุญาตขับขี่นั่นเอง แน่นอนคำว่า “ล้อเลื่อน” กินความหมายมาถึงเกวียนด้วย จนถึงสมัยรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติล้อเลื่อนใหม่ กำหนดให้เก็บค่าจดทะเบียนเกวียนคันละ ๑ บาท นับแต่ใช้งาน แต่ผู้ขับขี่ไม่ต้องมีใบอนุญาตเหมือนแต่ก่อน แต่นั้นเป็นต้นมา พระราชบัญญัติเกี่ยวกับเกวียนยังไม่ปรากฏว่ามีขึ้นอีกเลย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น