วันอังคารที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ทาสในเรือนเบี้ย


ทาสในเรือนเบี้ย


พระบาทสมเด็จพระจุลจอมฯ ร.๕ พระองค์ท่านทรงประกาศเลิกทาส

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ พระพุทธเจ้าหลวง ทรงเป็นรัชกาลที่ 5 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ พระบรมราชสมภพเมื่อ วันอังคาร เดือน 10 แรม 3 ค่ำ ปีฉลู 20 กันยายน พ.ศ. 2396 เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นที่ 1 ในสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ เสวยราชสมบัติ เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 11 ขึ้น 15 ค่ำ ปีมะโรง (พ.ศ. 2411) รวมสิริดำรงราชสมบัติ 42 ปี เสด็จสวรรคต เมื่อวันเสาร์ เดือน 11 แรม 4 ค่ำ ปีจอ (23 ตุลาคม พ.ศ. 2453)ด้วยโรคพระวักกะ รวมพระชนมพรรษา 58 พรรษา

พระองค์ทรงปกครองอาณาประชา ราษฎร ให้ร่มเย็นเป็นสุข ทรงโปรดการเสด็จประพาสต้น เพื่อให้ได้ทรงทราบถึงความเป็นอยู่ที่แท้จริงของราษฎร ทรงสนพระทัยในวิชาความรู้ และวิทยาการแขนงต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง และนำมาใช้บริหารประเทศให้ เจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว พระองค์จึงได้รับถวายพระราชสมัญญานามว่า สมเด็จพระปิยมหาราช และมีความหมายว่า พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน
สมัยที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัตินั้น  ประเทศไทยมีทาสเป็นจำนวนกว่าหนึ่งในสามของพลเมืองของประเทศ  เพราะเหตุว่าลูกทาสในเรือนเบี้ยได้มีสืบต่อกันเรื่อยมาไม่มีที่สิ้นสุด  และเป็นทาสกันตลอดชีวิต  พ่อแม่เป็นทาสแล้วลูกที่เกิดจากพ่อแม่ที่เป็นทาสก็ตกเป็นทาสอีกต่อๆ กั้นเรื่อยไป
    ทาส หมายถึง บุคคลซึ่งถูกนับสิทธิเสมือนสิ่งของของผู้อื่น ไม่มีอิสระในการดำรงชีวิต และมีหน้าที่รับใช้ผู้อื่นโดยมิได้รับการตอบแทนจากเจ้าของ (นายทาส) เช่น การรับใช้ทางด้านแรงงาน และหากไม่เชื่อฟังคำสั่ง อาจถูกลงโทษได้ตามแต่นายทาสจะกำหนด ยกเว้นเป็นการกระทำอันทำให้ถึงแก่ความตาย
โดยทาสในประเทศไทยนั้น สามารถแบ่งได้ 7 ประเภท ดังนี้
  1. ทาสสินไถ่- เป็นทาสที่มีมากที่สุดในบรรดาทาสทั้งหมด โดยเงื่อนไขของการเป็นทาสชนิดนี้ คือ การขายตัวเป็นทาส เช่น พ่อแม่ขายบุตร สามีขายภรรยา ดังนั้น ทาสชนิดนี้จึงเป็นคนยากจน ไม่สามารถเลี้ยงดูครอบครัวหรือตนเองได้ จึงได้เกิดการขายทาสขึ้น โดยสามารถเปลี่ยนสถานะกลับไปเมื่อมีผู้มาไถ่ถอน
  2. ทาสในเรือนเบี้ย-เด็กที่เกิดขึ้นระหว่างที่แม่เป็นทาสของนายทาส ทาสชนิดนี้ไม่สามารถไถ่ถอนตนเองได้
  3. ทาสที่ได้รับมาด้วยมรดก - ทาสที่ตกเป็นมรดกของนายทาส เกิดขึ้นก็ต่อเมื่อนายทาสคนเดิมเสียชีวิตลง และได้มอบมรดกให้แก่นายทาสคนต่อไป
  4. ทาสท่านให้ - ทาสที่ได้รับมาจากผู้อื่น
  5. ทาสที่ช่วยไว้จากทัณฑ์โทษ - ในกรณีที่บุคคลนั้น เกิดกระทำความผิดและถูกลงโทษเป็นเงินค่าปรับ แต่บุคคลนั้น ไม่มีความสามารถในการชำระค่าปรับ หากว่ามีผู้ช่วยเหลือให้สามารถชำระค่าปรับได้แล้ว ถือว่าบุคคลนั้น เป็นทาสของผู้ให้ความช่วยเหลือในการชำระค่าปรับ
  6. ทาสที่ช่วยไว้ให้พ้นจากความอดอยาก - ในภาวะที่ไพร่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองให้ประกอบอาชีพได้แล้ว ไพร่อาจขายตนเองเป็นทาสเพื่อให้ได้รับการช่วยเหลือจากนายทาส
  7. ทาสเชลย - ภายหลังจากได้รับการชนะสงคราม ผู้ชนะสงครามจะกวาดต้อนผู้คนของผู้แพ้สงครามไปยังเมืองของตน เพื่อนำผู้คนเหล่านั้นไปเป็นทาสรับใช้
โดยการที่จะหลุดพ้นจากการเป็นทาสได้นั้น สามารถเกิดขึ้นได้หากเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ คือ
    - การหาเงินมาไถ่ถอน 
    - การบวชเป็นสงฆ์โดยได้รับความยินยอมจากนายทาส 
    - การไปสงครามและถูกจับเป็นเชลย หลังจากนั้น สามารถหลบหนีออกมาได้ 
    - การแต่งงานกับนายทาสหรือลูกหลานของนายทาส 
    - ไปแจ้งทางการว่านายทาสเป็นกบฏ และผลสืบสวนออกมาว่าเป็นจริง 
    - การประกาศไถ่ถอนจากพระมหากษัตริย์ ในช่วงของการเลิกทาส
    โดยการเป็นอยู่ของทาสนั้น จะดีร้ายอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับนายทาสผู้เป็นเจ้าของทาสเพียงอย่างเดียว ซึ่งมีทาสจำนวนเพียงน้อยนิดเท่านั้นที่ได้รับการดูแลเพียงอย่างดี โดยการมีทาสนั้นได้ดำรงอยู่เป็นเวลาหลายปี จนกระทั่งสมเด็จพระปิยะมหาราชได้ขึ้นครองราชย์และได้ทำการเลิกทาส สมเด็จพระปิยะมหาราชหรือรัชกาลที่ ๕ เป็นกษัตริย์ผู้ทรงปัญญาและทรงพระปรีชาสามารถยิ่งนัก พระองค์ได้ทำพระราชกรณียกิจหลายอย่างที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและชนชาวไทย โดยพระราชกรณียกิจที่สำคัญอย่างยิ่งประการหนึ่งคือ "การเลิกทาส"นั่นเอง ซึ่งถือว่าเป็นการสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงในประวัติศาสตร์ไทย โดยการเลิกทาสของรัชกาลที่ ๕ นั้น ทรงเป็นไปอย่างมีขั้นตอนและสงบเรียบร้อย มิได้มีการปะทะกันหรือก่อให้เกิดสงคราม เหมือนดั่งการเลิกทาสในสหรัฐอเมริกาที่ทำให้เกิดสงครามระหว่างกองกำลังฝ่ายเหนือกับกองกำลังฝ่ายใต้

    พระราชดำริของสมเด็จพระปิยะมหาราชในการเลิกทาสนั้น มีหลักฐานปรากฏว่าเริ่มมีเค้ามาตั้งแต่สมัยต้นราชการ แต่กว่าจะเริ่มปรากฏเป็นรูปเป็นร่างก็อีกหลายปีต่อมา เพราะพระองค์นั้นทรงโปรดการทำงานที่มีความเตรียมพร้อมในทุกๆด้าน และเมื่อพร้อมแล้วก็รีบดำเนินการทันที ดังจะเห็นได้จากการประกาศขั้นตอนตามลำดับมา เช่น
    ใน พ.ศ. 2417 พระองค์ได้ออกพระราชบัญญัติลูกทาส หญิงชายเกิดตั้งแต่ ปีมะโรงอายุ 21 ปี ให้หลุดเป็นไทแก่ตน ลูกที่พ่อแม่จะขายให้ไปเป็นทาสต้องมีอายุไม่ตํ่ากว่า 15 ปี และลูกต้องยินยอมตามกรมธรรม์ด้วย
    ใน พ.ศ. 2448 ออกพระราชบัญญัติเลิกทาสทั่วราชอาณาจักร ห้ามการซื้อขายทาส และบรรดาลูกทาสก็ให้ปลดปล่อยเป็นไทให้หมด พวกที่เป็นทาสเก่าให้ลดค่าตัวลงเดือนละ 4 บาท จนหมดค่าตัว
    สมเด็จพระปิยะมหาราชทรงตระหนักเป็นอย่างดีว่า ทาสก็จัดเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ ทั้งทางด้านสังคมและการเมือง ที่สำคัญคือ ทางด้านเศรษฐกิจ พระองค์จึงทรงมีพระราชดำริเลิกทาส จึงได้ทำการตรัสปรึกษาข้าราชการ แต่พระองค์ก็ทรงพบอุปสรรค เพราะบรรดาข้าราชบริพารทั้งหลายไม่เห็นชอบด้วยกับพระองค์ แต่พระองค์มิได้ทรงท้อถอย ทรงดำเนินกุศโลบายอย่างสุขุมรอบคอบ และเป็นไปตามลำดับขั้น นอกจากนี้พระองค์ได้ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อช่วยไถ่ถอนทาส และพระราชทานทุนทรัพย์เพื่อให้ลูกทาส ได้ทำมาหากินต่อไปนอกจากนี้พระองค์ยังทรง จัดตั้งโรงเรียนสำหรับลูกทาสขึ้นมา
    
    ในด้านการออกกฎหมาย พระองค์ได้อาศัยพวกลูกขุนช่วยเหลือ  โดยพวกลูกขุน มี 2 พวก คือ 
1. ลูกขุน ณ ศาลาได้แก่ พวกข้าราชการและเสนาบดี 
2. ลูกขุน ณ ศาลหลวงได้แก่ ผู้พิพากษาคดี มาเลิกใช้ใน พ.ศ. 2416 หลังจากที่พระองค์ทรงกลับจากประพาสอินเดีย พระองค์ได้นําเอาแบบการมีสภาของอินเดียมาใช้ พ.ศ. 2417 จึงโปรดให้ตั้งมนตรีสภาขึ้นสองสภา คือ รัฐมนตรีสภา กับ องคมนตรีสภา

    และในที่สุดก็มาถึงวาระอันนับได้ว่าอิสรภาพและค่าแห่งความเป็นมนุษย์ของปวงชนชาวไทย ได้บรรลุถึงหลักชัยอย่างแน่นอน โดยพระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์พระปิยะมหาราชจากการตราพระราชบัญญัติลักษณะเลิกทาส ร.ศ. 124 (พ.ศ. 2448) ให้คงความเป็นไทเป็นสัญลักษณ์สำคัญประการหนึ่งของชาติ
     โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าการที่สมเด็จพระปิยะมหาราชได้ดำเนินพระราชกรณียกิจในเรื่องการเลิกทาสนั้น ไม่ได้ทำการได้ง่ายๆ นัก  ด้วยเพราะประชาชนมนมีฐานะในสมัยก่อนมีทาสรับใช้ไว้เป็นจำนวนมาก  การที่จะต้องมาเลิกทาสจึงกระทบต่อหลายฝ่าย  โดยเฉพาะขุนนางข้าราชการทั้งหาลายและคงสร้างความไม่พอใจเป็นอย่างมาก  แต่ด้วยที่ท่านค่อยเป็นค่อยไปด้วยการคิดการไกล  จึงทำให้การเลิกทาสได้สำเร็จ  และทาสในเรือนเบี้ยนี่เองที่ทำให้ผมคิดว่าเป็นจุดเริ่มต้อนของการเลิกทาสที่ดี  จึงใช้หัวบทความว่าทาสในเรือนเบี้ย สมเด็จพระปิยะมหาราชเป็นหนึ่งในพระมหากษัตริย์ของประเทศไทยที่ได้ดำเนินพระราชกรณียกิจที่สำคัญมากมาย พระองค์จึงเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทยหลายๆคน รวมถึงตัวผมเองด้วย...mata

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น