วันอาทิตย์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2556

คุณสมบัติของ พระสงฆ์ สามเณร


เล่ม ๔
หน้า ๑    หน้า ๒   หน้า ๓    หน้า ๔   หน้า ๕     หน้า ๖    หน้า ๗  )
หน้า ๕
ข้อห้ามเกี่ยวกับสามเณร
              อหิวาตกโรคเกิดขึ้น สกุลหนึ่งรอดตายมาเฉพาะบิดากับบุตร ทั้งสองคนออกบวช เมื่อมีผู้ถวายอาหารแก่บิดา บุตรวิ่งไปขอแบ่ง เป็นที่ติเตียน จึงทรงห้ามบรรพชา (บวชเป็นสามเณร) ให้เด็กที่มีอายุหย่อน ๑๕ ปี.
              ภายหลังมีเหตุจำเป็นที่ต้องสงเคราะห์บวชให้เด็กอื่น ๆ ที่พ่อแม่ตายหมด จึงทรงผ่อนผันให้บวชให้เด็กอายุหยอ่น ๑๕ ปี ซึ่งสามารถไล่กาได้ (คือพอจะรู้เดียงสา) และมีเหตุเกิดขึ้นเกี่ยวกับสามเณร จึงทรงบัญญัติมิให้ภิกษุรูปหนึ่งมีสามเณรรับใช้ถึง ๒ รูป, ถ้าทำเช่นนั้น ต้องอาบัติทุกกฏ.
ผ่อนผันเรื่องการถือนิสสัย
              สมัยนั้น ภิกษุจะต้องถือนิสสัย (อยู่ในปกครองของอุปัชฌายะหรืออาจารย์) ตลอด ๑๐ ปี เกิดความไม่สะดวก จึงทรงผ่อนผันให้ภิกษุที่ฉลาด สามารถถือนิสสัยตลอด ๕ ปี ส่วนภิกษุผู้ไม่ฉลาด ให้ถือนิสสัยตลอดชีวิต. แล้วทรงแสดงการขาดคุณสมบัติ ๕ อย่าง รวม ๔ จุด การประกอบด้วยคุณสมบัติ ๕ อย่าง รวม ๔ ชุด ที่ภิกษุจะต้องถือนิสสัย หรือไม่ต้องถือนิสสัย. แล้วทรงแสดงการขาดคุณสมบัติ ๖ อย่าง รวม ๔ ชุด การประกอบด้วยคุณสมบัติ ๖ อย่าง รวม ๔ ชุด ที่ภิกษุจะต้องถือนิสสัย หรือไม่ต้องถือนิสสัย. การขาดคุณสมบัติ หรือการประกอบด้วยคุณสมบัติ มีลักษณะคล้ายคลึงกับที่กำหนดไว้สำหรับอุปัชฌายะและอาจารย์ โดยเฉพาะที่กล่าวถึงคุณสมบัติ ๖ อย่าง ข้อที่ ๖ ก็คือกำหนดว่าจะต้องมีพรรษาครบ ๕ หรือเกิน ๕.
พระราหุลบวชเป็นสามเณร
              พระผู้มีพระภาคเสด็จสู่กรุงกบิลพัสดุ์ พระราหุลกราบทูลขอราชสมบัติ. พระผู้มีพระภาคตรัสสั่งให้พระสาริบุตรบวชให้ ทรงกำหนดวิธีบรรพชาเป็นสามเณรด้วยการถึงสรณะ ๓ (คือพระพุทธ, พระธรรม, พระสงฆ์). พระเจ้าสุทโธทนะทรงขอร้องพระผู้มีพระภาคอย่าให้บวชแก่บุตรที่มารดาบิดายังมิได้อนุญาต. พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามบวชผู้ที่มารดาบิดายังมิได้อนุญาต. ผู้บวชให้ ต้องอาบัติทุกกฏ.
ให้มีสามเณรรับใช้ได้เกินรูป ๑
              พระสาริบุตรมีสามเณรราหุลไว้รับใช้ ๑ รูป แต่เมื่อมีสามเณรอื่น ๆ บวชเพิ่มขึ้น ก็ไม่กล้ารับไว้ในปกครอง. พระผู้มีพระภาคจึงทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้ฉลาด สามารถมีสามเณรไว้รับใช้ได้ ๒ รูป กับสามารถจะให้โอวาทสั่งสอนได้จำนวนเท่าใด ก็อนุญาตให้มีสามเณรไว้รับใช้ได้ตามจำนวนนั้น (คือไม่จำกัดจำนวน แท้จริงการมีสามเณรไว้รับใช้ ไม่เหมือนแบบมีคนใช้ของคฤหัสถ์ เพราะภิกษุจะต้องเป็นผู้ปกครองสั่งสอน ให้การศึกษาทางพระพุทธศาสนา การใช้เล็ก ๆ น้อย ๆ ก็คงมีบ้าง).
ศีล ๑๐ ของสามเณร
              สามเณรทั้งหลายสงสัยว่าสิกขาบทหรือศีลของตนมีเท่าไร จะพึงศึกษาในสิกขาบทอะไรบ้าง. พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ๑๐ ของสามเณร คือ
              ๑. เว้นจากฆ่าสัตว์                                   ๒. เว้นจากลักทรัพย์
              ๓. เว้นจากประพฤติล่วงพรหมจรรย์             ๔. เว้นจากพูดเท็จ
              ๕. เว้นจากดื่มสุราเมรัย
              ๖. เว้นจากบริโภคอาหารในเวลาวิกาล (เที่ยงแล้วไป)
              ๗. เว้นจากฟ้อนรำขับร้องประโคมและการดูมหรสพ
              ๘. เว้นจากทัดทรงตกแต่งประดับประดาร่างกายด้วยดอกไม้ของหอม เครื่องทา เครื่องย้อมผัดผิว ต่าง ๆ
              ๙. เว้นจากที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ (คือเว้นจากนั่งนอนเหนือเตียงตั่งมีเท้าสูงเกินประมาณ และที่นั่งที่นอนอันใหญ่ มีภายในใส่นุ่นและสำลี)
              ๑๐. เว้นจากการรับทองเงิน

การลงโทษสามเณร
              สมัยนั้น สามเณรไม่มีความเคารพในภิกษุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติองค์ ๕ ที่จะทำทัณฑกรรม (ลงโทษ) สามเณร คือ
              ๑. ขวนขวายเพื่อความเสื่อมลาภของภิกษุทั้งหลาย
              ๒. ขวนขวายเพื่อให้เกิดความเสียหาย (อนัตถะป แก่ภิกษุทั้งหลาย
              ๓. ขวนขวายเพื่อให้ภิกษุทั้งหลายอยู่ไม่ได้
              ๔. ด่า, บริภาษภิกษุทั้งหลาย
              ๕. ทำภิกษุทั้งหลายให้แตกกัน

เรื่องเกี่ยวกับการลงโทษ
              ภิกษุทั้งหลายสงสัยว่าจะลงโทษสามเณรอย่างไร จึงทรงอนุญาตให้กำหนดข้อห้ามได้. ภิกษุทั้งหลายห้ามไม่ให้เข้าสังฆาราม (วัดที่สงฆ์อยู่). สามเณรเข้าไม่ได้ ก็เดินทางไปที่อื่นบ้าง สึกไปบ้าง ไปเข้ารีตเดียรถีย์บ้าง. จึงทรงห้ามมิให้ภิกษุห้ามสามเณรเข้าสังฆารามทั้งหมด ถ้าทำเช่นนั้น ต้องอาบัติทุกกฏ. อนุญาตให้ทำการห้ามเฉพาะในบริเวณที่อยู่ ที่ไปมา (กักบริเวณ). ภิกษุทั้งหลายห้ามกลืนกินอาหาร (ห้ามใช้ปากบริโภคอาการหรือดื่มข้าวยาคู). คนถวายอาหาร ถวายข้าวยาคู สามเณรก็ไม่กล้าฉัน. มีผู้ติเตียน. จึงทรงปรับอาบัติทุกกฏแก่ภิกษุที่ห้ามแบบนั้น.
              ภิกษุฉัพพัคคีย์กักบริเวณสามเณรหลายรูป อุปัชฌายะทั้งหลายตามเที่ยวถามหา ทราบความก็ติเตียน. พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติพระวินัยว่า ถ้ายังไม่บอกเล่าอุปัชฌายะก่อน ไม่พึงทำการห้าม (กักบริเวณ) สามเณร. ผู้ทำเช่นนั้น ต้องอาบัติทุกกฏ.
ห้ามชวนสามเณรของภิกษุอื่นไปอยู่ด้วย
              ภิกษุฉัพพัคคีย์ชวนสามเณรของภิกษุผู้เป็นเถระไปอยู่ด้วย. ท่านลำบากด้วยการหาไม้สีฟันและน้ำล้างหน้าเอง. จึงทรงบัญญัติพระวินัย ไม่ให้ชวนบริษัท (สามเณร) ของภิกษุอื่นไปอยู่ด้วย ถ้าทำเช่นนั้นต้องอาบัติทุกกฏ.
การให้สามเณรสึก
              สามเณรของพระอุปนนทะ ศากยบุตร ประทุษร้าย (ข่มขืน) นางภิกษุณี. ภิกษุทั้งหลายติเตียน. พระผู้มีพระภาคจึงทรงอนุญาตให้นาสนะ (ไล่สึก) สามเณรผู้ประกอบด้วยองค์ ๑๐ คือ
เรื่องเกี่ยวกับการลงโทษ
              ๑. ฆ่าสัตว์                            ๒. ลักทรัพย์
              ๓. ประพฤติผิดในกาม             ๔. พูดปด
              ๕. ดื่มสุราเมรัย                      ๖. ติเตียนพระพุทธ
              ๗. ติเตียนพระธรรม                ๘. ติเตียนพระสงฆ์
              ๙. มีความเห็นผิด                 ๑๐. ประทุษร้าย (ข่มขืน) นางภิกษุณี

บุคคลที่ห้ามบวชอื่น ๆ อีก
              ต่อมามีเหตุการณ์เกิดขึ้นในการที่ภิกษุทั้งหลายบวชให้แก่ผู้ไม่สมควร จึงทรงบัญญัติพระวินัย ห้ามบวชให้แก่ผู้ไม่สมควรต่อไปนี้
              ๑. กะเทย                                 ๒. คนที่ลักเพศ (คือบวชเอาเองโดยไม่ถูกต้อง)
              ๓. ภิกษุที่ไปเข้ารีตเดียรถีย์            ๔. สัตว์ดิรัจฉาน
              ๕. ผู้ฆ่ามารดา                             ๖. ผู้ฆ่าบิดา
              ๗. ผู้ฆ่าพระอรหันต์                      ๘. ผู้ข่มขืนนางภิกษุณี
              ๙. ผู้ทำสงฆ์ให้แตกกัน                ๑๐. ผู้ประทุษร้ายพระพุทธเจ้าถึงยังพระโลหิตให้ห้อ
             ๑๑. คนมีอวัยวะ ๒ เพศ (อุภโตพยัญชนก)
              ทั้งสิบเอ็ดประเภทนี้ ถ้าบวชให้แล้วรู้เข้าภายหลัง ต้องให้สึกไป.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น