วันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2556

การประกันสังคม

การประกันสังคม โดย นายนิคม จันทรวิทุร 
          คำว่า  "ประกันสังคม"  เป็นคำใหม่  เริ่มใช้ในประเทศไทยประมาณพ.ศ. ๒๔๘๐ พร้อมๆ กับคำว่าสังคมสงเคราะห์ แม้จะเป็นคำใหม่ แต่หลักการและแนวทางมีการนำมาใช้ปฏิบัตินานแล้วเช่น การที่ชาวบ้านช่วยกันเรี่ยไรเงินรวบรวมเป็นเงินก้อน  เพื่อช่วยเหลือเป็นค่าทำศพให้แก่สมาชิกในชุมชนเดียวกันที่ถึงแก่กรรม
          ความหมายของการประกันสังคมในสมัยปัจจุบันคือ  โครงการที่จัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาล  มีวัตถุประสงค์ที่จะสร้างความมั่นคงหรือหลักประกันให้แก่ประชาชน โดยมีวิธีการจัดเก็บรายได้ส่วนหนึ่งจากประชาชนที่มีรายได้   เงินที่เก็บนี้นำมาสมทบรวมกันเป็นกองทุนกลาง      นำมาใช้จ่ายเป็นค่าทดแทนให้แก่ประชาชนตามเงื่อนไขที่กำหนดเงินที่เรียกเก็บนี้หากเป็นกรณีเก็บจากผู้ที่ทำงานรับจ้าง ก็อาจให้นายจ้างจ่ายสมทบส่วนหนึ่ง และในบางกรณีรัฐบาลจะจ่ายสมทบด้วย


การรวมตัวของสหภาพแรงงานต่าง ๆ เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ

[ดูภาพทั้งหมดในหมวด]


หัวข้อ
ประวัติความเป็นมาของการประกันสังคม
          แนวความคิดเรื่องการประกันสังคมริเริ่มขึ้นในยุโรป สืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตโดยมีการค้นคิดเครื่องจักรและพลังน้ำมาทำงานแทนคน ทำให้สามารถขยายการผลิตมีการจ้างแรงงานมากขึ้น และเกิดปัญหาหลายประการ รัฐจึงต้องเข้าช่วยโดยออกกฎหมายให้หลักประกันแก่คนงาน   โครงการแรกเป็นเรื่องการประกันเกี่ยวกับการเจ็บป่วย ริเริ่มขึ้นที่ประเทศเยอรมันในสมัยเจ้าชายบิสมาร์ค (Prince Otto Von-Bismarck) เป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยพระเจ้าวิลเฮล์มที่ ๑ (Willhelm Friedrich Ludwig)  เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๒๖  ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๒๗  ได้จัดให้มีการประกันอุบัติเหตุหรือโรค อันเกิดจากการทำงานขึ้น    หลังจากนั้นประเทศเยอรมันได้จัดให้มีการขยายการประกันออกไปอีก โดยใน พ.ศ. ๒๔๓๒  ได้ออกกฎหมายประกันการพิการทุพพลภาพ  และในพ.ศ. ๒๔๔๓ ออกกฎหมายให้ประโยชน์แก่ผู้อยู่ภายใต้อุปการะของผู้เอาประกัน
          การที่ประเทศเยอรมันนำวิธีการประกันสังคมมาใช้     สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม  ได้เป็นอย่างดี   ประเทศในยุโรปอื่นๆ และสหรัฐอเมริกา  จึงได้นำไปใช้ปฏิบัติบ้าง  โดยเฉพาะสหรัฐฯ  นั้น ประธานาธิบดีรูสเวลต์ (Franklin D. Roosevelt) ให้ความสนใจมากตั้งแต่ก่อนได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี  ครั้นเมื่อได้รับเลือกก็สนับสนุนให้มีการออกกฎหมายว่าด้วยความมั่นคงใน  พ.ศ. ๒๔๗๘  กฎหมายฉบับนี้ได้เป็นรากฐานการประกันสังคมของประเทศตราบจนปัจจุบันนี้   สำหรับภูมิภาคเอเชีย  ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกที่ประกาศใช้กฎหมายประกันสังคมในพ.ศ. ๒๔๕๔   ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชียก็ได้ประกาศใช้กฎหมายนี้กันอย่างกว้างขวางเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในทวีปแอฟริกาและอเมริกาใต้
          ใน พ.ศ. ๒๕๓๑ มีประเทศต่างๆ จำนวนกว่า ๑๔๒ ประเทศ ดำเนินการประกันสังคมในรูปแบบต่างๆ   กล่าวคือ  ประกันเกี่ยวกับอุบัติเหตุ และโรคอันเกิดจากการทำงาน  ๑๒๘ ประเทศเช่น อัฟกานิสถาน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ไทย  ประกันเกี่ยวกับชราภาพ พิการ ทุพพลภาพ และตาย ๑๐๘ ประเทศ เช่น  ฟิลิปปินส์ ปากีสถาน จีน จอร์แดน ญี่ปุ่น ประกันการเจ็บป่วยและคลอดบุตร ๗๑  ประเทศ เช่น  พม่า อินเดีย  ออสเตรเลีย  ญี่ปุ่น  ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์  ประกันครอบครัวมีภาระ  ๖๖  ประเทศ  เช่น  ญี่ปุ่น   นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย เซเนกัล ไอวอรีโคสต์ อาร์เจนตินา สหรัฐฯ บราซิล  และประกันการว่างงาน  ๒๗ ประเทศ เช่น ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย สหรัฐฯ อังกฤษ และประเทศในทวีปยุโรปทั้งหมด สำหรับในทวีปเอเชีย   ประเทศส่วนใหญ่อยู่ในระยะกำลังพัฒนา  ความไม่พร้อมและการพัฒนาไม่เท่าเทียมกับประเทศในยุโรป   เรื่องการประกันสังคมจึงพัฒนาไม่เต็มที่  ถึงกระนั้นการประกันสังคมก็คลุมถึงเรื่องต่างๆ เช่น ประกันการเจ็บป่วยและคลอดบุตร  ๑๗  ประเทศ  ประกันด้านอุบัติเหตุและโรคอันเกิดจากการทำงาน  ๒๒ ประเทศ ประกันครอบครัวที่มีภาระ ๓ ประเทศ และประกันการว่างงาน ๒ ประเทศ

[กลับหัวข้อหลัก]

คนงานเดินทนในวันแรงงานแห่งชาติ (๑ พฤษภาคม) พ.ศ. ๒๕๓๐เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ(๕ ธันวาคม ๒๕๓๐)


ประธานธิบดีแฟรงคลิน ดี รูสเวลต์ แห่งสหรัฐอเมริกา (ค.ศ.๑๙๓๓-๑๙๔๕)
วิธีการและหลักการของการประกันสังคม
          ประเทศที่มีการประกันสังคมจะมีกฎหมายกำหนดให้รัฐบาลทำหน้าที่เรียกเก็บเงินสมทบจากประชาชนในรูปแบบต่างๆ    เพื่อรวบรวมเป็นกองทุนกลาง โดยมีการจัดตั้งสำนักงานขึ้นทำหน้าที่บริหารเงินทุน การเก็บเงินรวบรวมเป็นกองทุนกลางนี้    เรียกเก็บจากประชาชนในช่วงระยะเวลาที่เขาสามารถทำงานและมีเงิน  เข้าทำนองเก็บสะสมเป็นเงินออมไปเรื่อยๆ  แนวความคิดเช่นนี้ เกิดขึ้นในสังคมอุตสาหกรรมก่อน   เพราะในระบบนี้ประชาชนไม่สามารถพึ่งพาญาติพี่น้องได้ สังคมอุตสาหกรรมเป็นสังคมที่ประชาชนต้องปรับตัวต้องปรับสภาพการดำเนินชีวิต  ต้องมีที่อยู่ใหม่ต้องขวนขวายหางานทำเพื่อให้มีรายได้ และการที่จะมีปัจจัยสี่มาดำรงชีพนั้นต้องใช้แรงงาน แลกเปลี่ยนด้วยการทำงานเป็นหลัก  งานส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นงานรับจ้างซึ่งให้ผลตอบแทนเป็นค่าจ้างเพื่อแลกเปลี่ยนแรงงาน     เมื่อใดที่แรงงานหยุดชะงักการขาดรายได้ก็จะเกิดขึ้น เมื่อรายได้ขาดไปด้วยสาเหตุใดๆ  เป็นการยากที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดในสังคมปัจจุบันจะสามารถเข้ารับผิดชอบหารายได้ที่ขาดไปตามลำดับ  ทำให้ความเดือดร้อนเกิดขึ้น  และจะเดือดร้อนถึงบุคคลอื่นๆ ที่ต้องพึ่งพาบุคคลที่เคยมีรายได้ การประกันความมั่นคงของประชาชนเกิดขึ้นเนื่องจากเหตุนี้   โดยการนำเงินจากกองทุนกลางมาจ่ายให้แก่สมาชิกหรือผู้เอาประกันตามลักษณะประเภทและอัตราที่กำหนดเป็นการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อน
          การจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนกลางอาศัยหลักการความเสี่ยงภัยร่วมกัน ทั้งนี้เพราะภัยต่างๆ อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่มีการคาดหวังมาก่อนจนทำ ให้ต้องขาดรายได้ เช่น  การประสบอุบัติเหตุ การเจ็บป่วย การตกงาน เป็นต้น และเมื่อทุกคนเสี่ยงภัยร่วมกันเงินกองทุนจะมีมากขึ้น    สามารถนำไปจ่ายกับบุคคลที่ประสบภัยได้ในจำนวนที่พอสมควรตามที่กำหนด  การเก็บเงินสมทบเป็นกองทุนนี้อาศัยหลักการที่ว่า  อุบัติเหตุหรือการขาดรายได้นั้นมิได้เกิดขึ้นกับทุกคนในเวลาเดียวกัน  ฉะนั้นเงินทุนที่เก็บอยู่ตลอดเวลาที่แต่ละคนทำงานจะมีสะสมมากพอเป็นทุนสำรองได้
          หลักการของการประกันสังคม  ก็คล้ายๆกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาในเรื่องเกี่ยวกับอนิจจัง คือถือว่าทุกอย่างในโลกนี้ล้วนไม่แน่นอนมีเกิด มีแก่  มีเจ็บ มีตาย หมุนเวียนกันไป ดังนั้น คำสอนของพระพุทธองค์จึงสอนให้คนดำรงอยู่โดยไม่ประมาท เร่งสร้างความดี ความดีในทัศนะของพระพุทธเจ้านั้นนอกจากจะหมายถึงการสร้างบุญสร้างกุศล การทำให้จิตใจสงบแล้ว ยังรวมถึงการสะสมปัจจัยต่างๆ ในเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งที่ดีงาม  เช่น  การมีร่างกายที่ดี  อนามัยที่ดี  จิตใจที่ดี มีความรู้ มีฝีมือ มีการประกอบสัมมาอาชีพมีความเพียรชอบ  และการเก็บออมก็เป็นเรื่องหนึ่งที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้หลายคราว การประกันสังคมก็ตั้งอยู่บนรากฐานดังกล่าวนี้ คือในระหว่างที่ยังมีกำลังวังชาหารายได้ก็อย่าได้ประมาท  ควรเก็บออมไว้  จะได้เอาไปใช้สอยได้ในยามขาดแคลนไม่ว่าจะเป็นผลจากการเจ็บป่วย พิการ หรือตกงาน และโดยธรรมชาติ มนุษย์จะเก็บออมได้ด้วยตนเองนั้นค่อนข้างยาก จึงจำเป็นที่รัฐต้องออกกฎหมายขึ้นในทำนองการบังคับ    แต่ก็เป็นการบังคับที่มุ่งประโยชน์ของผู้ที่ถูกบังคับโดยตรง

[กลับหัวข้อหลัก]

แผนผังแสดงมาตรฐานขั้นต่ำในการประกันสังคม ตามอนุสัญญาฉบับที่๑๐๒ ค.ศ. ๑๙๕๒
การประกันสังคมช่วยเศรษฐกิจอย่างไร
          การประกันสังคมเป็นขบวนการเศรษฐกิจอันหนึ่ง โดยการส่งเสริมให้ประชาชนออมทรัพย์ในช่วงที่มีรายได้ และจะคืนเป็นค่าทดแทนแก่ผู้เอาประกันในช่วงที่ขาดรายได้   การหมุนเวียนของเศรษฐกิจในรูปนี้ทำให้ประชาชนไม่ขาดกำลังซื้อ  ภาวะเศรษฐกิจก็จะหมุนเวียนและขยายตัวได้การประกันสังคมจะช่วยเศรษฐกิจได้มากในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ตัวอย่างประเทศที่นำประโยชน์ของการประกันสังคมมาใช้ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำคือประเทศในยุโรป และสหรัฐอเมริกาในช่วง พ.ศ. ๒๔๗๕    และในช่วงระยะเวลาตกต่ำของเศรษฐกิจอีกหลายครั้ง    ประเทศดังกล่าวสามารถนำประชาชนผ่านปัญหาเศรษฐกิจไปได้เพราะโครงการประกันสังคม  ในช่วงระยะเวลาที่ยุ่งยากนั้นโครงการนี้มีเงินออมของประชาชนเก็บไว้ฃสามารถจ่ายให้ประชาชนนำไปใช้จ่าย  ช่วยให้ประชาชนยังมีเงินได้แม้เศรษฐกิจจะทรุดโทรมคนไม่มีงานทำ การที่ประชาชนยังคงมีรายได้ก็เท่ากับเป็นการสร้างงาน  ขณะเดียวกันก็ช่วยเหลือรัฐบาลในยามขาดแคลนให้เศรษฐกิจยังคงยืนอยู่ได้ต่อไป
          การประกันสังคมถือเป็นเรื่องการสร้างความมั่นคงของคนในสังคมร่วมกัน ช่วยกระจายรายได้ และช่วยเหลือผู้ประสบภัยและผู้ด้อยโอกาส สังคมใดที่ประชาชนมีความแตกต่างกันน้อยในเรื่องรายได้ และความเป็นอยู่   ตลอดจนโอกาสในการสร้างความมั่นคงให้ชีวิต     สังคมนั้นจะสงบสุขและมีปัญหาทางสังคมน้อย
          ด้วยเหตุนี้ โครงการประกันสังคมจึงได้รับการยอมรับว่าเป็นสถาบันที่สำคัญที่สุดอันหนึ่งซึ่งรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นพรรคใด เมื่อเข้าบริหารประเทศไม่ว่าพรรคของตนจะมีนโยบายอย่างไร ก็พยายามที่จะสนับสนุนส่งเสริม ในบางครั้งบางคราวอาจจะมีข้อเสนอจากพรรคตรงข้ามกับรัฐบาลให้พิจารณายกเลิก แต่ก็มักจะไม่ประสบความสำเร็จปัจจุบัน  โครงการการประกันสังคมเป็นสถาบันที่ถาวร  สามารถผูกมัดจิตใจของคนในชาติเข้าด้วยกัน  เพราะเป็นโครงการผนึกกำลังกันระหว่างนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล เพื่อสร้างความมั่นคงร่วมกัน

[กลับหัวข้อหลัก]
กฎหมายประกันสังคมระหว่างประเทศ
          ปัจจุบันการประกันสังคมได้รับการรับรองในองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ได้กำหนดเป็นมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศในรูปของอนุสัญญาและข้อแนะหลายฉบับ อนุสัญญาเหล่านี้ได้รับการให้สัตยาบันจากประเทศสมาชิกจำนวนมาก โดยเฉพาะอนุสัญญาฉบับที่ ๑๐๒ ค.ศ. ๑๙๕๒   ได้วางมาตรฐานขั้นต่ำในเรื่องเกี่ยวกับการประกันสังคมเอาไว้    มาตรฐานที่อนุสัญญาฉบับนี้กำหนดไว้  คลุมถึงเรื่องต่างๆ  ๙ เรื่อง คือ การรักษาพยาบาล การเจ็บป่วยการว่างงาน  วัยชรา การบาดเจ็บในงาน ครอบครัว การคลอดบุตร  การไร้สมรรถภาพ และผลประโยชน์ของผู้ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ เช่น หญิงม่ายหรือเด็กกำพร้า
          ประเทศใดก็ตามที่ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับนี้ จะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนดไว้อย่างน้อย ๓ เรื่อง สำหรับใช้บังคับกับคนงานประเภทใดหรือในสาขาอาชีพใดสาขาอาชีพหนึ่ง และหลังจากการรับไปปฏิบัติอย่างน้อย ๓ เรื่องแล้ว ต่อไปก็สามารถรับเรื่องต่างๆ ที่เหลือมาใช้ได้เมื่อมีความพร้อม
          กฎหมายเกี่ยวกับการประกันสังคมนั้น  เน้นเรื่องความสำคัญของมนุษย์เป็นใหญ่  โดยไม่จำกัดว่าจะมีเชื้อชาติใด  สีผิวใด    หรืออยู่ในประเทศใด ด้วยเหตุนี้กฎหมายที่เกี่ยวกับการประกันสังคมระหว่างประเทศจึงกำหนดไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติต่อพลเมืองในชาติ  และผู้อพยพมาหางานทำ ซึ่งจะต้องได้รับการดูแลคุ้มครองด้วย

[กลับหัวข้อหลัก]
การประกันสังคมในประเทศไทย
          ประเทศไทยมีกฎหมายประกันสังคมฉบับแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗ กฎหมายฉบับนี้ผ่านรัฐสภาพร้อมจะประกาศใช้  แต่ประสบปัญหาในเรื่องนโยบายทำให้ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ได้จนกระทั่งบัดนี้  กฎหมายนี้ถูกร่างเสนอ] และสนับสนุนโดยกรมประชาสงเคราะห์ มีเนื้อหาให้ความคุ้มครองบุคคล ๒ ประเภท คือ ผู้ประกอบอาชีพรับจ้าง และประชาชนทั่วไปที่สมัครใจประกันตนเอง  บุคคลทั้งสองประเภทนี้กฎหมายได้ให้รายละเอียดไว้กว้างๆ ได้แก่  บุคคลซึ่งรับจ้างทำงานให้แก่ผู้ว่าจ้างเป็นการประจำ และได้รับค่าจ้างเป็นเงิน ตั้งแต่ ๕๐๐ บาทขึ้นไปต่อหนึ่งเดือนหรือผู้ทำงานส่วนตัว  ผู้ไม่ได้ทำงาน  หรือแม้แต่ผู้ไม่ได้อยู่ในข่ายบังคับก็สามารถสมัครเข้าประกันตนเองตามกฎหมายฉบับนี้ได้  แต่ทั้งนี้ผู้เอาประกันต้องมีสุขภาพตามที่แพทย์ได้ตรวจรับรองว่าสมควรเข้าประกันตนได้ ส่วนประโยชน์ที่ผู้เอาประกันจะได้รับ   ประกอบด้วยเงินหรือสิ่งของหรือบริการอื่นๆ โดยจัดแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ คือ การประกันในด้านการคลอดบุตร การสงเคราะห์บุตร การเจ็บป่วยพิการหรือทุพพลภาพชราภาพ และการฌาปนกิจ

[กลับหัวข้อหลัก]

แบบฟอร์มกรมธรรม์ประกันภัย
กองทุนเงินทดแทน
          แม้กฎหมายประกันสังคมจะไม่ถูกนำมาใช้ปฏิบัติจนกระทั่งบัดนี้  แต่ในพ.ศ. ๒๕๑๕ ก็มีประกาศใช้กฎหมายแรงงาน (ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๐๓) กำหนดให้มีการจัดตั้งสำนักงานกองทุนเงินทดแทนขึ้นในกรมแรงงาน ทำหน้าที่เรียกเก็บเงินสมทบจากนายจ้างและสถานประกอบการที่มีลูกจ้าง  ๒๐ คนขึ้นไป เงินสมทบที่เก็บนี้นำมาจ่ายเป็นค่าทดแทนแก่ลูกจ้าง ซึ่งประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานให้นายจ้าง  เงินทดแทนที่จ่ายประกอบด้วย ค่าจ้างค่ารักษาพยาบาล  ค่าสูญเสียสมรรถภาพในการ ทำงาน  และค่าทำศพส่วนจำนวนเงินค่าทดแทนเป็นไปตามความร้ายแรงของความเสียหายที่ลูกจ้างได้รับ   เช่น   ในกรณีลูกจ้างประสบอันตรายและได้รับบาดเจ็บที่นิ้วหรือมือ ลูกจ้างก็จะได้เงินค่าทดแทนเท่ากับร้อยละ ๖๐ ของค่าจ้างตลอดระยะเวลาที่รักษาตัว ในกรณีที่ลูกจ้างต้องสูญเสียอวัยวะ เช่น นิ้วมือ มือ และแขนขาก็จะได้รับค่าทดแทนเป็นร้อยละ ๖๐ ของเงินเดือน ในกรณีสูญเสียมากหรือทุพพลภาพก็ได้รับค่าทดแทนเป็นร้อยละ ๖๐ เป็นเวลา ๑๐ ปี
          เงินทดแทนดังกล่าวนี้ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของลูกจ้างในระหว่างที่เจ็บป่วยต้องหยุดงาน   และในกรณีทุพพลภาพก็สามารถมีรายได้ไปจับจ่ายใช้สอยดูแลครอบครัว
          กองทุนเงินทดแทนได้ก่อตั้งมาเป็นเวลา ๑๕ ปี  และปัจจุบันนี้สามารถคุ้มครองดูแลลูกจ้างเป็นจำนวนหนึ่งล้านคน  แต่ละปีกองทุนเงินทดแทนต้องจ่ายเงินช่วยเหลือลูกจ้างผู้ประสบอันตรายจากการทำงานเป็นจำนวนเงินถึง ๒๐๐ ล้านบาท  นอกจากนี้สำนักงานกองทุนเงินทดแทนยังได้จัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูคนพิการเพื่อดูแลให้การรักษา และฟื้นฟูคนงานที่ได้รับอุบัติเหตุและเจ็บป่วยจากการทำงานเพื่อสามารถที่จะมีงานทำที่เหมาะสมได้ต่อไป
          ประสบการณ์ในการที่ประเทศไทยได้ริเริ่มกองทุนเงินทดแทนซึ่งเป็นก้าวแรกของโครงการประกันสังคม   ทำให้เป็นที่ตระหนักกันทั้งในหมู่ลูกจ้าง นายจ้าง และรัฐบาลว่าประเทศไทยควรจะได้ริเริ่มโครงการประกันสังคมในรูปอื่น เช่น การประกันการเจ็บป่วยนอกงาน ซึ่งขณะนี้เป็นปัญหาเดือดร้อนอันหนึ่งของคนงาน ด้วยเหตุนี้ทางฝ่ายรัฐบาล  นายจ้าง   ลูกจ้าง และนักวิชาการกำลังพิจารณาเสนอกฎหมายเพื่อที่จะให้มีการประกันสังคมในรูปการประกันการเจ็บป่วยนอกงาน  และรูปอื่นๆ  เป็นที่หวังกันว่าในอนาคตอันใกล้ ประเทศไทยก็จะได้มีโครงการ ประกันสังคมอย่างประเทศอื่นๆ  เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบเคราะห์กรรมต่างๆ ให้มีหลักประกัน สามารถได้รับชีวิตที่มั่นคงเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติในที่สุด

          (ดูเพิ่มเติมเรื่อง การสังคมสงเคราะห์ หมวดเดียวกัน เล่มเดียวกัน)

[กลับหัวข้อหลัก]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น