วันอาทิตย์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2556

กำจัดเชื้อราภายในบ้าน ทำได้ยังไงบ้างนะ

กำจัดเชื้อราภายในบ้าน ทำได้ยังไงบ้างนะ


ทำความสะอาด

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          หลังจากเผชิญกับภาวะน้ำท่วมมานานเกือบ 2 เดือน ระยะนี้ ดูเหมือนว่าสถานการณ์น้ำในหลายพื้นที่จะเริ่มคลี่คลายลงแล้ว แบบนี้ใครหลาย ๆ คนก็คงจะดีใจกันยกใหญ่ เพราะในที่สุดก็ได้กลับไปอยู่ในบ้านของตัวเองสักที อ๊ะ ๆ แต่อย่าสบายใจไปค่ะ เพราะไม่ว่าน้ำจะลด ที่บ้านมีความเสียหายน้อยยังไง สิ่งที่คุณ ๆ ต้องจัดการกันแน่ ๆ หลังจากบ้านเผชิญกับภาวะน้ำท่วม ก็คือความอับชื้น กลิ่นเหม็นอับ และเชื้อราที่ผุดขึ้นในบ้านนั่นเอง 

          วันนี้ กระปุกดอทคอมก็เลยขอรวบรวมวิธีกำจัดเชื้อราในบ้านมาฝากกัน เพื่อให้ผู้ (เคย) ประสบอุทกภัยได้จัดการกับเชื้อราที่นำมาซึ่งอันตรายและเชื้อโรคอย่างหมดจด และถูกวิธีค่ะ

          1. เมื่อเกิดเชื้อราขึ้นกับวัสดุที่เป็นพื้นแข็ง ให้ใช้น้ำสบู่ แอลกอฮอล์ หรือน้ำยาขัดห้องน้ำล้าง และขัดให้ด้วยแปรงชนิดแข็งจนเชื้อราออกจนหมดจด จากนั้นใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดหลาย ๆ รอบจนกว่าจะแน่ใจว่าสะอาด

          2. วัสดุที่เป็นเนื้ออ่อน เช่น หนังสือ กระดาษมัน พลาสติก กล่อง ให้ใช้สำลีชุบฟอร์มาลีนเช็ด แล้วตามด้วยผ้าชุบน้ำสะอาด จากนั้นนำไปวางไว้ในที่ที่อากาศถ่ายเท และมีแสงแดดส่องถึงเล็กน้อย แล้วปล่อยให้แห้ง



          3. พรม ฝ้า หรือที่นอน หาก มีเชื้อราขึ้น ให้โยนทิ้งจะปลอดภัยที่สุด เพราะวัสดุที่มีรูอย่างพรม ฝ้า และที่นอนนี้ เป็นวัสดุที่ล้างเชื้อราออกได้ยากมาก และแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะสามารถล้างออกได้หมดจด 100% ซึ่งถ้าหากยังดันทุรังใช้ต่อไป ความชื้นในห้องก็อาจจะทำให้เชื้อราลุกลาม ฟักตัวได้กว้างขึ้น ทำให้เกิดโรคและเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจของผู้อยู่อาศัยไม่รู้ตัว ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่คุ้มกันเลยล่ะ

          4. อย่าทาสีหรือแลคเกอร์ทับในบริเวณที่เกิดเชื้อรา ให้ล้างออกให้สะอาดหมดจดก่อน จากนั้นค่อยเริ่มทาสีหรือแลคเกอร์

          5. กรณีที่เชื้อราผุดให้เห็นในข้าวของเครื่องใช้ประเภทเครื่องหนัง ให้ใช้น้ำส้มสายชูเช็ดหลาย ๆ ครั้ง จนแน่ใจว่าสะอาด จากนั้นเช็ดครั้งสุดท้ายด้วยน้ำสะอาด น้ำส้มสายชูจะช่วยกำจัดเชื้อราได้เป็นอย่างดี

          6. เฟอร์นิเจอร์ หรือของใช้ที่เป็นไม้เนื้ออ่อน โดยปกติวัสดุเหล่านี้จะเสี่ยงต่อการขึ้นราเมื่อมีความชื้นอยู่แล้ว ซึ่งมันจะไม่เป็นอะไรมากนักหากนำมาล้างทำความสะอาดภายใน 24-48 ชั่วโมงที่พบเชื้อ หรือเริ่มสังเกตเป็นดอกเป็นดวงขึ้น แต่ในกรณีที่น้ำท่วมแล้วปล่อยบ้านไว้นานเป็นเดือน ๆ ขอแนะนำให้ทิ้งข้าวของเครื่องใช้ที่ทำด้วยไม้เนื้ออ่อนเหล่านั้นไปอย่างไม่ ต้องเสียดาย เพราะอาจจะฟักตัวเป็นเชื้อราที่อันตรายมากขึ้นได้


งานบ้าน
          7. ย้ายเฟอร์นิเจอร์ หรือเครื่องใช้ที่มีราขึ้น (และตอนนี้ได้ทำความสะอาดแล้ว) ไปอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก หรือที่แสงแดดส่องถึงสักระยะหนึ่ง คือประมาณ 1-2 สัปดาห์ แล้วหมั่นคอยตรวจสอบว่า หลังจากทำความสะอาดแล้วยังมีเชื้อราขึ้นอยู่อีกหรือไม่ หากไม่มีก็แสดงว่าสามารถแน่ใจแล้วว่าเราได้ทำความสะอาดเชื้อราออกไปได้อย่าง หมดจดแล้วจริง ๆ แต่หากยังพบร่องรอยของเชื้อรา ขอให้นำมาทำความสะอาดใหม่ เพราะมันจะลามได้ง่ายมากถ้าหากวันหนึ่งอากาศชื้นอีกครั้ง

          8. วอลเปเปอร์ ใช้กรดซาลิไซลิด ผสมกับแอลกอฮอล์ในอัตราส่วน 1:5 จากนั้นนำผ้ามาชุบไปเช็ดวอลเปเปอร์ซ้ำ ๆ ประมาณ 2 รอบ แต่ถ้าหากว่ามีเชื้อราอยู่มาก แนะนำให้รื้อทิ้งแล้วเปลี่ยนวอลเปเปอร์ใหม่จะดีกว่า

          9. เสื้อผ้า ผ้าม่าน และผ้าห่ม หาก พบเชื้อรา สามารถฆ่าเชื้อเบื้องต้นได้โดยใช้น้ำร้อน จากนั้นขยี้แล้วซักให้สะอาดหลาย ๆ ครั้ง และตากในที่ที่มีแสงแดดเท่านั้น เพื่อเป็นการฆ่าเชื้ออีกที

          10. งดกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดความชื้นภายในบ้าน หากตัวบ้านเพิ่งมีราขึ้นและได้รับการทำความสะอาดไปใหม่ ๆ ไม่ควรต้มน้ำ ซักผ้า ตากผ้า เปิดเครื่องปรับอากาศเย็นจัด แต่ควรเปิดให้อากาศภายนอกได้ระบายเข้ามาบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันแดดจัด แม้ว่าจะทำให้คุณร้อนอบอ้าวไปบ้าง แต่แสงแดดจะช่วยฆ่าเชื้อราได้ดีเลยทีเดียว

          อย่างไรก็ดี การกำจัดเชื้อรานั้นต้องทำไปควบคู่กับการรักษาความสะอาดทุก ๆ จุด และสิ่งของทุก ๆ อย่างภายในบ้านเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกที่บ้านยังคงเก็บความชื้นจากภาวะน้ำเอ่อท่วมไว้อยู่ ต้องคอยดูแลใส่ใจอย่างดีเลยทีเดียวค่ะ รับรอง ว่าถ้าหากทำได้อย่างนี้แล้ว พอพ้นช่วง 2-3 สัปดาห์หลังน้ำท่วมเมื่อไหร่ คุณก็จะได้บ้านอบอุ่นและปลอดภัยปลอดเชื้อโรคหลังเดิมคืนอย่างแน่นอนค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น