วันอาทิตย์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2557

พบหลุมดำยักษ์ ใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือก

พบหลุมดำยักษ์ ใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือก

Home> News> Global> พบหลุมดำยักษ์ ใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือก

พบหลุมดำยักษ์ ใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือก



ดาวเทียมสวิฟต์ของนาซาค้นพบหลุมดำขนาดยักษ์ ใกล้กับใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือก หลังตรวจจับเจอปรากฏการณ์การปะทุของรังสีเอกซ์พลังงานสูง

รังสีเอกซ์ที่พบนี้ได้ปะทุออกมาจากแหล่งกำเนิดเมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งบ่งบอกว่าเป็นหลุมดำ ที่มีดาวฤกษ์สหายอยู่ใกล้กัน ซึ่งเรียกว่า ระบบดาวคู่

ดาวเทียมสวิฟต์

นีล เกห์เรลส์ หัวหน้าทีมวิทยาศาสตร์ของสวิฟต์ บอกว่า แหล่งกำเนิดรังสีเอกซ์ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เอกซ์เรย์ โนวา นี้ เป็นปรากฏการณ์ที่พบได้ยากมาก นับเป็นครั้งแรกที่สวิฟต์ได้ตรวจพบ

เอกซ์เรย์ โนวา (X-ray nova) จะปล่อยรังสีเอกซ์ออกมาอย่างปุบปับ ระดับพลังงานจะพุ่งสูงสุดอยู่ไม่กี่วัน แล้วค่อยๆจางไปเมื่อเวลาผ่านไปหลายเดือน

การปะทุเช่นนี้จะเกิดขึ้นเมื่อก๊าซที่ถูกสะสมไว้ได้ถูกดึงดูดเข้าหาวัตถุที่มีมวลอัดแน่น เช่น ดาวนิวตรอน หรือหลุมดำ

แหล่งกำเนิดรังสีเอกซ์ที่สว่างวาบขึ้นอย่างปุบปับได้แจ้งเตือนให้อุปกรณ์เฝ้าตรวจการปะทุของกล้องโทรทรรศน์สวิฟต์จับภาพไว้เมื่อวันที่ 16 กันยายน และอีกครั้งหนึ่งในวันต่อมา

โนวาที่ปล่อยรังสีเอกซ์นี้ ถูกตั้งชื่อตามพิกัดบนท้องฟ้าว่า สวิฟต์ เจ1745-26 ซึ่งอยู่ในตำแหน่งห่างไม่กี่องศาเมื่อมองไปทางกลุ่มดาวคนยิงธนู

นักดาราศาสตร์ไม่รู้แน่ชัดว่า หลุมดำนี้อยู่ห่างจากโลกแค่ไหน แต่คาดระยะห่างว่าตกประมาณ 20,000-30,000 ปีแสง ในบริเวณใจกลางกาแล็กซีของเรา

กล้องดูดาวหลายแห่งบนภาคพื้นดินได้ตรวจพบการปล่อยรังสีความร้อนและคลื่นวิทยุ แต่เนื่องจากหลุมดำถูกปกคลุมด้วยม่านฝุ่นหนาทึบ จึงไม่สามารถถ่ายภาพของ Swift J1745-26ในย่านความถี่ที่เป็นแสงสว่างได้

โนวาดังกล่าวได้สว่างวาบสูงสุดด้วยรังสีเอกซ์เข้มข้น ซึ่งมีพลังงานเกิน 10,000 อิเล็กตรอนโวลต์ หรือสูงกว่าระดับพลังงานของแสงสว่างหลายพันเท่า เมื่อวันที่ 18 กันยายน ซึ่งนับว่าสว่างเท่ากับเนบิวลาปู

เนบิวลาปู (Crab Nebula) เป็นซากหลงเหลือของซูเปอร์โนวา ซึ่งใช้เป็นมาตรวัดเทียบเคียงกับปริมาณพลังงานสูงที่ถูกปล่อยออกมาจากวัตถุต่างๆ นับเป็นแหล่งปล่อยพลังงานที่สุกสว่างที่สุดนอกระบบสุริยะของเรา

หลุมดำดังกล่าวมีสหายเป็นดาวฤกษ์ ก๊าซจากดาวสหายได้ไหลไปยังแผ่นจานสะสมสารที่ล้อมรอบหลุมดำ เมื่อเข้าใกล้หลุมดำก็จะเกิดความร้อนจัด แล้วปล่อยพลังงานออกมาเป็นลำรังสีเอกซ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น